สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                        ละครเรื่องค่าเงินบาท

                                                                                                                                       อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได่ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    _____________________________________________________________________________________________________________________________________

 

                  ผมเริ่มมีความรู้สึกว่า การแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาท ได้กลายเป็นละครชีวิตเรื่องยาวที่ตลกปนเศร้าไปเสียแล้ว คนดูอาจจะต้องคอยลุ้นว่า ตอนจบจะเหมือนแฮรี่ พอตเตอร์หรือไม่ 7 – 8 เดือนหลังจากละครโหมโรงด้วยการประกาศมาตรการสำรอง 30% เนื้อหาก็เข้มข้นและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ จำนวนตัวละครก็เพิ่มมากขึ้น จำนวนคนดูและคนที่ติดตามละครเรื่องนี้ก็ขยายวงกว้างออกไป จนอาจกล่าวได้ว่ามีรวมนับล้านคนอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยิ่งกว่าละครทีวีเรื่องดังๆในอดีต ตลอดจนช่วยกลบกระแสความร้อนแรงของเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มกับขั้วต่างๆ
                  จำนวนตัวละครที่เพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากมีธุรกิจที่เดือดร้อนจำนวนมากขึ้น จนทนเป็นคนดูต่อไปไม่ไหวต้องกระโดดลงมาช่วยเล่น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการมีนักวิชาการจำนวนมากเรียงหน้ากันออกมาเสนอความเห็น และแม้แต่ในหมู่สื่อมวลชน ในช่วงแรกก็เป็นเพียงการวิพากย์ละครและเสนอข่าวในแง่มุมต่างๆ แต่พอนานเข้าบางท่านก็พัฒนาตนเองจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องค่าเงินบาท และกระโดดลงมาร่วมเล่นละครเสียเอง
 ล่าสุดมีนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินระดับเฮฟวี่เวทหลายท่าน กระโดดลงมากลางเวทีพร้อมๆกัน ด้วยข้อเสนอและข้อแนะนำที่ค่อนข้างรุนแรง เรียกเสียงฮือฮาจากคนดูได้ไม่น้อย แต่จะช่วยให้ละครเรื่องนี้จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ
                  ที่ผมชอบใจเป็นพิเศษคือ อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติท่านหนึ่ง แนะนำน้องๆที่อยู่ข้างหลังว่า ถ้าหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ควรไปศึกษาวิธีของธนาคารกลางประเทศอื่น เพราะประเทศอื่นๆดูเหมือนจะแก้ปัญหาเดียวกันได้ดีกว่าเรา ตัวผมเองตอนแรกก็คิดจะเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเพิ่มเติมจากที่เคยพูดไปบ้างแล้ว แต่ทบทวนดูแล้วก็สรุปว่าอย่าดีกว่า เพราะคงไม่เกิดประโยชน์อันใด รังแต่จะสร้างความสับสนเล็กๆขึ้นมาอีกเปลาะหนึ่ง
                  ขอเพียงพูดซ้ำสั้นๆในสิ่งที่เคยพูดแล้วเมื่อหลายเดือนก่อนว่า ถ้าหาทางออกไม่เจอ ก็ให้ย้อนกลับไปที่ทางเข้า ในส่วนที่ทำท่าจะเป็นเรื่องตลกมุขสำคัญของละครเรื่องนี้ คือข่าวเรื่องทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้ง 2 ทีม เกิดเกาเหลากันเอง ทีมหนึ่งพร้อมที่ปรึกษาใหญ่ และมีแรงหนุนจากแบงก์ใหญ่ อยากให้ลดดอกเบี้ยแรงๆ อีกทีมหนึ่งพร้อมทีมที่ปรึกษาจากสถาบันวิจัยใหญ่ สนับสนุนแนวทางที่ผ่านมาของแบงก์ชาติในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย คือสรุปว่าสวนกระแสตลาดโลกมามากพอแล้ว มากกว่านี้อาจเป็นอันตรายต่อภาวะการออมในระยะยาว ผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์บอกว่า ทีมเศรษฐกิจทั้ง 2 ทีมคุยกันไม่รู้เรื่อง เลยจะนำเข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ท่านอื่นๆที่ไม่รู้เรื่องยิ่งกว่า ช่วยกันตัดสิน
                  มุขตลกมุกนี้ ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็แฝงไว้ด้วยความเศร้าลึกๆ ที่สะท้อนความไม่ค่อยจะเอาไหนในบางเรื่องของสังคมไทย ที่สำคัญคือการไม่แบ่งอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบกันให้ชัดเจนระหว่างหน่วยงาน
 ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูว่า ถ้าการแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาท ต้องกลายเป็นวาระแห่งชาติ ตัดสินกันด้วยการถกกันผ่านสื่ออย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือด้วยการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างที่มีข่าวว่าจะเป็น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดแลกเปลี่ยน และตลาดเงิน ตลาดทุนของประเทศ
                   ผมเดาได้ว่าจะเกิดการเก็งกำไรกันมหาศาล จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก ระหว่างกลุ่มที่รู้ว่าผลของการลงมติจะออกมาเป็นอย่างไร กับกลุ่มที่ไม่รู้หรือรู้ช้ากว่า นอกจากนี้อาจเกิดปัญหาว่ากระบวนการตัดสินโปร่งใสหรือไม่ ผู้ที่มีส่วนร่วมมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ในระบบที่ดี เขาจึงมีธนาคาร กลางที่มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบใหญ่ของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยผู้บริหารธนาคารกลางจะเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือ ทั้งด้านความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม และปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ
                   ในวันนี้ มองจากฝั่งของแบงก์ชาติ มีบุคคลภายนอกก้าวก่ายการทำงานของแบงก์ชาติมากมาย ถ้าเป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ หรือสื่อมวลชน คงไปห้ามไม่ให้เขาวิพากย์วิจารณ์ไม่ได้ แต่อย่างน้อยเจ้าหน้าที่รัฐและคนในรัฐบาล ก็ไม่ควรเข้ามาแทรกแซง ล้วงลูก หรือวิพากย์วิจารณ์และกดดันผ่านสื่อ ท่านนายกรัฐมนตรีควรจะพิจารณาขอร้องให้ทีมเศรษฐกิจของท่าน หยุดเสียเวลาคิดแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาท และหยุดให้ข่าวทั้งทางตรงทางอ้อมกับสื่อ ที่รัฐบาลต้องตัดสินใจคือ นโยบายการเงินปัจจุบันและค่าเงินบาท สอดคล้องหรือมีผลกระทบกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลแค่ไหน มากพอที่จะต้องยื่นคำขาดกับแบงก์ชาติหรือไม่ ถ้าเห็นว่าจำเป็น ท่านนายกฯอาจต้องเป็นคนกระซิบบอกท่านผู้ว่าฯว่าต้องการเห็นค่าเงินบาทอยู่ในช่วงไหน ภายในเวลาเท่าไร และถ้าทำไม่ได้ หรือไม่ทำ จะมีผลอย่างไร


 

     

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California