สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                              Diarrhea    

                                                                      ตอนที่ 8

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

 

โรค GERD เกิด

          จริง ๆนะครับมันเป็นโรคเกิดในผู้ใหญ่ ไม่เกี่ยวกับเด็กเกิดใหม่ที่อยู่ห้องคลอดเลย เอางี้ดีกว่าอย่าไปเดาเลยว่ามันเป็นโรคอะไร จะบอกให้ ฝรั่งเขาเขียนว่า  GERD  เกิร์ด ย่อมาจากภาษาฝรั่ง Gastro-esophageal reflux disease หรือเขาชอบเรียกว่า Heart burn ควรจะแปลว่าเพลิงสุมทรวง ฟังแล้วเหมือนละครไทยทีวีจริงเลย แต่เท่าที่คนไข้ลาวของผมเขาจะบอกว่ามันร้อนในอก หรืออุ่นในท้อง ยิ่งกว่าไฟสุมทรวงเสียอีก

          จริง ๆนะครับผมนี้เล่นเขียนบทความกลับไปกลับมา จากกะเพาะลงไปที่ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ แล้วก็กลับขึ้นมาแถวใกล้ ๆ ปาก ที่เป็นอย่างนี้เพราะผมชักเหม็นกลิ่นขี้ในลำไส้ ทนไม่ไหวจริง ๆ และมาจำได้ว่าลืมเขียนเรื่องที่สำคัญบทนี้ เลยกลับมาที่แถวปากที่มันสะอาดหน่อย และให้เป็นเรื่องของระบบอาหารที่ผมต้องการให้เป็นหมวด ๆ เผื่อว่าใครจะขอไปพิมพ์เป็นหนังสือวันเกิด หรืองานศพก็จะได้มาขอไปฟรี เรื่องก็มีอยู่แค่นี้เอง

           อาการร้อนทรวงอกนี้มักจะเกิดมากในคนที่กินอาหารแล้วหาโซฟายาว ๆ แล้วก็นอนแผ่สองสลึงเลย  แล้วตาก็จับที่จอทีวี โดยมากก็มักจะเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวใหญ่และไม่ค่อยออกกำลังกาย มักมีอาการเรอและบ่อย มีกลิ่นอาหารที่เพิ่งกินเข้าหยก ๆ คล้ายกับมาเตือนความจำว่ากินอะไรไปบ้าง บางรายก็มีอาหารในกะเพาะสำรอกออกมาด้วย รสชาติเปรี้ยว ๆ เอ่อขึ้นมาถึงลำคอ ยิ่งแกงเผ็ดด้วยแล้วจะแสบคอทีเดียว ถ้ากลิ่นทุเรียนก็คงจะได้กลิ่นไปทั้งบ้านเลย ของที่เอ่อหรือขย่อนขึ้นมานี้ก็คืออาหารที่เพิ่งกินแล้วไปคลุกเข้ากับน้ำกรดในกะเพาะ ถ้าอาการพวกนี้เป็นบ่อย ๆ จนนอนไม่หลับเพราะเจ็บและอาจแน่นหน้าอก จนแยกไม่ออกว่ามันเป็นโรคของเส้นเลือดหัวใจตีบ Coronary Heart Disease แล้วต้องแบกเข้าห้องฉุกเฉินตอนดึก ๆ เขาให้อยู่เกือบคืน แล้วก็ให้กลับบ้าน เพราะเขาบอกว่าเป็นโรคอาหารไม่ย่อย indigestion จากนั้นบิลล์ก็จะส่งมาถึงเราทีหลัง ในราว ๆ สองสามพันเหรียญเท่านั้น ถ้าเป็นบ่อย ๆ น้ำกรดจากกะเพาะจะไปกัดเอาท่ออาหารส่วนที่จากลำคอมาถึงกะเพาะอาหารที่เรียกว่า Esophagus อักเสบแล้วเป็นแผลได้

          เมื่อเราเคี้ยวอาหารจะมีน้ำลายที่เป็นด่าง Salivary bicarbonate เข้ามาคลุกเคล้าด้วย แน่นอนต้องมีน้ำหล่อลื่น และน้ำย่อย Ptyalin ให้แป้งเป็นน้ำตาล ดังนั้นเด็กเวลาอมข้าวในปากนาน ๆ ก็จะหวาน การย่อยอาหารก็ต้องเคี้ยวโดยการช่วยเหลือของฟัน ลิ้น แก้ม ริมฝีปากและกล้ามเนื้อบังคับคาง จนบดคลุกเคล้าเป็นก้อนลื่น ๆ เราก็กลืนลงไปท่ออาหาร ผ่านสี่แยกตรงที่มีท่อลมตั้งอยู่ตอนที่กลืนนี้ฝาปิดช่องลมหายใจ epiglottis จะปิด เพื่อกันไม่ให้อาหารเข้าหลอดลมไป ดังนั้นถ้าเราคุยด้วย กลืนอาหารด้วยก็จะสำลัก แม้นจะเป็นแค่เศษอาหารหรือน้ำหลุดเข้าหลอดลมเพียงนิดหน่อย เราก็เกิดอาการสำลักอาหาร (Choke โชค) นั้นเพื่อไม่ให้มันเข้าไปในปอด โดยสำลักและไอแรง ๆ  ฉะนั้นธรรมชาติถึงให้เราหุบปากอย่าพูดระหว่างกินอาหารอยู่ เนื่องจากอาจสำลักแล้ว บางคนอาจพูดไม่เข้าหูคน เกิดทะเลาะกันระหว่างกินอาหารอยู่ ก็เลยอดกินต่อ นักวิทยาศาสตร์หาว่าธรรมชาติวางท่อผิด เอาท่ออาหารกับท่อลมมาตั้งอยู่ที่สี่แยก แล้วไม่มีไฟจราจรบังคับ รถทุกคันจะแย่งกันไปก่อน ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเวลา ถ้าปิดจราจรถนนที่ตัดหน้าเสีย คือกลั้นไม่หายใจหรือพูด อีกสายก็จะวิ่งได้ ไม่เกิดอุบัติเหตุ ผมว่าไม่ผิดหรอกครับ เชื่อผมได้เลย เพราะว่าพระเจ้าสร้างสี่แยกนี้ไว้ให้บรรพบุรุษเราที่เป็นสัตว์ จำพวกไม่พูด ดังนั้นก็ไม่ค่อยมีอุบัติเหตุ แต่คนอุตริมาหัดพูด และพูดมากเสียด้วย ดังนั้นพูดปากมากตอนกลืนอาหารเราต้องหัดหุบปากและกลั้นหายใจถึงจะกลืนอาหารลงได้ ถ้ายังอ้าปากและพูดเหมือนนกอีกาอยู่จะกลืนได้ลำบากและผิดทางด้วย ทดลองทำดูซี่ครับ ว่าจริงหรือเปล่า แล้ว จะไปโทษพระเจ้าได้ยังไงกัน ไอ้พวกปากมาก

        

          เมื่อกลืนอาหารลงท่ออาหารก็จะไหลลงไปทางกระเพาะ แต่ว่าต้องรู้สักนิด ท่ออาหารนี้จะมีหูรูดอยู่สองประตู อันบนใกล้หลอดคอก็จะเปิดหูรูดให้อาหารผ่านลงไป อันนี้ไม่นับว่าเป็นหูรูดทีเดียว เพียงแต่เป็นกล้ามเนื้อบีบให้อาหารไหลลงตามท่อเท่านั้น ถ้าเรานั่งกินหรือยืนกิน แรงโน้มถ่วงก็จะดันอาหารไหลลงกระเพาะได้เอง นอกนี้ก็มีคลื่นบีบของหลอดคอ Peristalsis เพริเทาซิส ช่วยขับเคลื่อน อาหารลงกระเพาะอีกแรงหนึ่ง พอมาถึงส่วนปลายของท่อตรงที่ระดับเดียวกับกระบังลมก็มีอีกหูรูดที่สอง มันจะปล่อยให้อาหารผ่านลงในกระเพาะ แล้วก็ปิด มันทำหน้าที่กันอาหารย้อนกลับเท่านั้น ตอนขาลง มันไม่ทำหน้าที่กัน

          อาหารจากปากที่เคี้ยวแล้วจะลงไปคลุกกับน้ำย่อยในกระเพาะซึ่งเป็นกรดอย่างแรง ขนาด pH4

ขออธิบายความเป็นกรดและด่างเสียหน่อย เป็นความรู้ทั่วไป อย่าหาว่าสอนเลย

ความแรงของน้ำกรด เขาวัดกันที่ตัว free H+ คือมันหลุดฟรีออกจากโมเลกูลของกรดมากน้อยเท่าไร ถ้าหลุด H+ ฟรีมีมากในน้ำยานั้นก็จะเป็นกรดมาก หรือ pH

กลับกันส่วนน้ำยาที่เป็นด่างจะมี  free OH-   จากน้ำยาที่รู้จำนวนปริมาณของ H+ หรือ OH- แล้วก็มาทำเป็นตัวเลขหารกันไปหารกันมา ตามแบบการคำนวณ logarithm แล้วเรียกว่าเป็น scale pH หรือ pOH ถ้าขนาดน้ำธรรมดานี่นับว่าเป็นกลาง ก็นับว่ามี pH 7 หรือ pOH 7 แต่จะเรียก p ทั้งสองอย่าง มันก็ยุ่ง ๆ อยู่ เลยให้ใช้แต่ pH อย่างเดียว จำง่ายดี ถ้าต่ำกว่า เบอร์เจ็ดก็เรียกว่ามีปฏิกิริยาเป็นกรด เช่น pH4 ก็นับเป็นกรดแรง ถ้าย้อนกลับเป็นตัวเลขมากกว่า pH7 ก็เป็นด่าง เช่น pH 12 อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นด่างมาก แต่อย่างไรก็ไม่เกิน pH 14 เช่นน้ำกรดเกลือบริสุทธิ์ที่ในท้องเราที่เรียกว่า HCl ก็แรงขนาด pH 0.0 (แต่มันไปปนกับน้ำย่อยของกะเพาะเลยจางลง ได้แค่ 4)  กาแฟดำเป็นกรด pH5.0  น้ำที่สดใสก็เป็น pH 7 ยาธาตุน้ำขาวนั้นเป็นด่างก็ pH10.5 น้ำด่าง โซดาไฟ โซเดียม ไฮดรอกไซด์ ก็ ด่างมากขนาด pH14  คิดว่าผู้อ่านคงจะคำนวณได้เองว่าตัวไหนเป็นด่างหรือกรด

ขอฝอยอีกนิด เคยสังเกตว่า น้ำ H2O มันก็คือ H+ และ OH-คือกรดและด่าง สองตัวนี้รวมโดยปฏิกิริยาเคมี ก็กลายเป็นน้ำ คือไม่เป็นกรดหรือด่าง กลาง ๆ

ปรกติเมื่ออาหารลงมาถึงส่วนกระเพาะแล้วจะไม่ไหลย้อนกลับ เพราะหูรูดของท่ออาหารทั้งบนและล่างจะไม่เปิดให้ง่าย ๆ นอกนั้นยังมีคลื่นบีบของท่ออาหารให้อาหารลงทางกะเพาะตลอดเวลา

เรื่องจะเกิดโรคได้เมื่อ หูรูดบนหรือล่างมันหย่อนยาน ปิดไม่มิด ท่ออาหารมันไม่บีบหรือรูดลงเพราะประสาทของหูรูดเสีย  หรือน้ำหล่อลื่นในท่อมันเสีย  อันเกิดจากโรคบางอย่าง ท่ออาหารแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น หรือจากการที่ท่ออาหารอักเสบบ่อย ๆ เพราะอาหารในกะเพาะสำรอกขึ้นมาทางท่อ ท่อมันก็จะมีแผลเป็น ๆ หาย ๆ อย่างนี้ แผลหายแล้วก็ทำให้ท่ออาหารแข็ง เป็นแผลหลาย ๆ แห่ง อาจจะมีโอกาสแตกได้ ท่อเสียแบบนี้เรียกว่า Barrett's Esophagus นอกนี้ถ้ากะบังลมเกิดหย่อนยาน หูรูดท่ออาหารก็จะหย่อนยานไปด้วย นอกนี้ทำให้กะเพาะอาหารส่วนบนโป่งขึ้นไปในช่องทรวงอกด้วย Hiatus Hernia นั่นคือบางส่วนของกระเพาะไปอยู่ในทรวงอก   กรดในกระเพาะส่วนนั้นก็มีโอกาสไหลย้อนขึ้นมาที่ท่ออาหาร ทำให้เกิด ร้อนในทรวง Heart Burn ได้

 

เมื่อหูรูดไม่รูดต่อไป ส่วนหนึ่งของกระเพาะก็เลื่อนเข้าไปเหนือกระบังลม หรือทรวงอก เรียกว่า Hiatus Hernia

ในบุคคลธรรมดาอาจมีแรงรูดที่หูรูดไม่มากพอ โดยเฉพาะตอนนอน แต่ก็ไม่เกิดโรค เพราะมีน้ำลายที่เป็นด่างไหลลงมาที่ท่ออาหารสม่ำเสมอ(เวลานั่งสัปหงก ถึงมีน้ำลายไหลยืดออกมาทุกคนแหละครับ) แล้วยังมีการบีบตัวของท่ออาหารเสมอ ทำให้ท่ออาหารเป็นด่างนิด ๆ เลยทำให้อาหารบางส่วนที่สำรอกขึ้นมาไม่เป็นกรดกัดท่ออาหาร

โรค เกิร์ดนี้เกิดขึ้นกว่า 20% ของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพวกกินเสร็จก็ขอพังพาบเอ็นตัวดู ทีวี น้ำหนักมาก ขาดการออกกำลังกาย

การตรวจก็นอกจากประวัติและรูปร่าง การตรวจดูว่ามีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า ใช้ยาประเภทแก้ปวดท้องหรือท้องเดินบ่อย ๆ หรือเปล่า เพราะพวกนี้ทำให้หูรูดของท่อหย่อนยาน การตรวจพิเศษโดยให้กลืนสารทึบ Barium ลงไปในกะเพาะ แล้วถ่ายภาพขณะที่สารทึบเคลือบท่ออาหารและสารอยู่ในกะเพาะอาหร โดยดูการบีบปล่อย และความแข็งของท่อ เขาเรียกว่า Barium Esophagography การเอากล้องส่องแล้วถ่ายรูปของท่อและกะเพาะอาหาร การวัดความรุนแรงของกรดในท่ออาหาร อันนี้ทำยากหน่อย และคนไข้จะไม่ค่อยร่วมมือ

การรักษานอกจากต้องระวังน้ำหนักและไขมันรอบเอว หมั่นออกกำลังกาย การที่อ้วนมากจนไขมันในท้องดันเอากะเพาะไปติดแนบกับกะบังลมจนท่อหูรูดของท่ออาหารหย่อนยาน

อย่านอนยืดตัวหลังอาหาร ควรให้อาหารลงสู่ท้องเป็นเวลาอย่างน้อยสามชั่วโมง โดยการยืนหรือเดินธรรมดา อย่างน้อยนั่งตัวตรงก็ยังดี ถ้ามีอาการตอนดึกบ่อย ๆ ควรจะนอนให้หัวสูงขึ้นแบบคนเป็นหืดหรือโรคหัวใจ

อาหารที่ต้องยกเว้นก็คือ เหล้า บุหรี่ อาหารมัน ๆ และชอกโกแลต เพราะพวกนี้ไปทำให้หูรูดหย่อนยาน อาหารพวกเผ็ด ๆ หรือรสจัด ๆ เพราะมีความเป็นกรดมาก เวลาขย้อนขึ้นทางท่ออาหารจะไปกัดเนื้อเยื่อมาก ก็ปวดมาก

ยาธาตุน้ำขาว ตัวที่ดีที่สุดก็เป็น Gaviscon นอกนี้ Mylanta 2, Maalox TC ไม่ว่าจะเป็นเม็ดหรือน้ำ ถ้าเป็นเม็ดก็เคี้ยวให้แหลกก่อนกลืน บางคนกลืนยาเม็ดยากเย็นนัก

ยาลดกรดที่เรียกว่า H2 receptor antagonists พวกนี้ลดกรดได้นานถึง แปดชั่วโมง หาซื้อได้ที่ตามหิ้ง OTC Over the counter ชื่อยาก็มี Tagamet ,Zantag, Pepcid เวลากินให้กินสองเม็ดตามที่ขาย อาจกินก่อนอาหารเย็น

ยาอีกจำพวกหนึ่งคือพวกทำหน้าที่บีบตัวของท่ออาหารให้แรงขึ้น เรียกว่ายาพวก Pro-motility  เช่น Reglan, Duvoid Urecholine แต่ใช้นานไม่ได้ อาจมีผลข้างเคียงหลายอย่าง รุนแรงขนาดทำให้หัวใจเต้นผิดปรกติ พวกนี้ต้องใช้ใบหมอ

Proton pump inhibitor ยาพวกนี้ช่วยลดกรดและได้ดีและอยู่ได้นานกว่าพวกอื่น แต่ราคาละก็ หูดับเลยครับ ยี่ห้อที่ใช้ก็คือ Prevacid, Prilosec, Nexium ตัวท้ายนี้กำลังโฆษณามาก เม็ดหนึ่งก็ตกราว 3-5 ดอลล่าร์ ให้กินวันละเม็ด ก่อนอาหารเย็น แ่ถ้าเป็นมากอาจต้องกินวันละสองครั้ง พวกนี้ต้องให้หมอสั่งทั้งนั้น ได้ยินว่า ตัวแรกจะตั้งขายตามหิ้งเร็ว ๆ นี้ แต่ผมว่าพวก แก้กรด H2 receptor ant. เช่น Tagamet ก็ใช้ได้ดีพอแล้ว เรื่องอะไรจะไปเสียสตังค์มาก ๆ

ถ้ากรรมวิธีพวกนี้ไม่ได้ผล การใช้การกระทุ้งท่อให้ขยาย  การแก้ไข กะเพาะอาหารเลื่อน Hiatus hernia การผูกถุงกะเพาะอาหารส่วนต้นหรือที่หูรูด การให้ไฟฟ้าจี้ที่หูรูดก็เป็นกรรมวิธีที่ต้องนอนโรงพยาบาลกันละ ส่วน Hiatus Hernia ก็ต้องผ่าตัดดันเอากระเพาะอาหารส่วนที่เลื่อนเข้าเหนือกระบังลมหรือในทรวงอก กลับเข้าที่ แล้วก็เย็บกระบังลม

ยังอ่านไม่หมดเลย อย่าเพิ่งหลับซี่ครับ ตื่นมาอ่านต่อ เขาพบว่าบางคนที่เป็นโรคไอเรื้อรัง โรคหืด โรคเสียงแหบบ่อย ๆ เจ็บคอบ่อย ๆ เจ็บหน้าอกเข้า ๆ ออก ๆ ห้องฉุกเฉินโดยหัวใจไม่เป็นอะไร ก็อาจจะเกิดจากโรคนี้ก็ได้

  

              กลับไป ตอนที่ 7                                                                                      

                    

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California