สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                  เมื่อดอลล์หมดมนต์ขลัง  

                                                                                                                                         อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    _____________________________________________________________________________________________________________________________________

      

              เงินเหรียญสหรัฐเริ่มเสื่อมมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นเกิดเมื่อใด อะไรคือสาเหตุ ต่างคนคงต่างความคิดกัน
                                                                   

     สัญญาณบอกเหตุแห่งความเสื่อมเท่าที่ผมนึกได้มีดังนี้

      หนึ่ง สหรัฐขาดดุลการค้ากับดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงยิ่งขึ้นทุกปี ในขณะที่ฐานะการคลังอ่อนแอลงจากการขาดดุลงบประมาณ และจากค่าใช้จ่ายในการทำสงครามอิรัก
      สอง ธนาคารกลางบางประเทศเริ่มคิดจะลดสัดส่วนเงินทุนสำรองที่อยู่ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ
      สาม บทบาทของเงินเหรียญสหรัฐที่มีต่อเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อโลกลดลง การขึ้นลงดอกเบี้ยของสหรัฐไม่ทำให้ชาติอื่นๆต้องปรับตัวอย่างมากมายเหมือนในอดีต
      สี่ การเติบโตของจีนกับอินเดีย ซึ่งมีประชากรมาก ทำให้สูตรการจัดสรรทรัพยากรโลกเปลี่ยนไป โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะลงตัว แต่ที่ชัดเจนคือ ส่วนแบ่งของสหรัฐจะต้องลดลง
               ห้า ปัญหาซับไพร์ม ซึ่งเพิ่งโผล่ขึ้นมาให้เห็นไม่กี่เดือน สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอ อย่างน้อยก็ในบางภาคเศรษฐกิจของสหรัฐ
               หก การลดดอกเบี้ยลง 0.5% ของเฟดครั้งล่าสุด เกือบจะเหมือนเป็นการตอกฝาโลงให้กับเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้ที่ถือเงินเหรียญสหรัฐอยู่ในมือขาดความมั่นใจยิ่งขึ้นว่า มันจะคงมูลค่าเอาไว้ได้ในระยะยาว
 

               ผลที่ตามมาคือการอพยพออกจากเงินเหรียญสหรัฐไปหาแหล่งลงทุนอื่น เป้าหมายแรกเบนไปที่เงินยูโร ซึ่งเป็นสกุลที่มีศักยภาพสูงสุดในการแทนที่เงินเหรียญสหรัฐ เงินยูโรจึงแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ ทำลายสถิติเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า
               แต่ในครั้งนี้ แทนที่ยุโรปจะดีใจ กลับมีขบวนการต่อต้านอย่างรุนแรง กลุ่มธุรกิจรีบออกมาโวยวายว่าจะทำให้แข่งขันไม่ได้ รัฐบาลฝรั่งเศสออกมาประกาศจุดยืนว่าไม่อยากให้เงินยูโรแข็ง จนธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ต้องออกมาต่อว่า ว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลประเทศสมาชิก
               มองไปข้างหน้า ผมคิดว่ายากที่เงินยูโรจะแทนที่เงินเหรียญสหรัฐได้เต็มที่ เพราะยุโรปมีหลายประเทศ พื้นฐานเศรษฐกิจกับฐานะการเงินต่างกัน ประเทศที่อ่อนแอกว่าย่อมทนไม่ไหวที่จะเห็นค่าเงินเคลื่อนไหวทีละมากๆ
               ครั้นจะพึ่งเงินเยนก็หมดหวัง ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่ แต่ในเรื่องสกุลเงินพยายามทำตัวให้เล็กมาโดยตลอด รวมทั้งพยายามกีดกันไม่ให้มีการใช้เงินเยนอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
               ประเทศอื่นๆก็พยายามดูแลไม่ให้ค่าเงินแข็งเกินไป มีเพียง 2 ประเทศที่ยินดีให้ค่าเงินแข็ง คือแคนาดากับออสเตรเลีย
               เศรษฐกิจแคนาดาเป็นเบี้ยล่างสหรัฐมานาน เงินเหรียญแคนาดาก็มีค่าน้อยกว่าเงินเหรียญสหรัฐ เพิ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่อัตราแลกเปลี่ยนกลับมาอยู่ในระดับ 1:1 (Parity) ซึ่งทำให้ชาวแคนาดาดีใจ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาไม่ชอบถูกมองว่าเป็นพี่น้องกับสหรัฐ โดยอยู่ในฐานะน้อง คล้ายๆกับที่ลาวไม่อยากเป็นน้องของไทย
               สำหรับออสเตรเลีย ช่วงนี้เศรษฐกิจดีเพราะส่งออกวัตถุดิบกับพืชผลเกษตรได้ราคา คนออสเตรเลียรักสนุก ค่าเงินที่แข็งขึ้นทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนอนาคตก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะประเทศกว้างใหญ่ ยังมีที่ดินให้แบ่งขายเศรษฐีต่างชาติได้อีกเยอะ เริ่มมีเสียงพูดหนาหูว่า อีกไม่นานอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะขึ้นไปถึง 1:1 เช่นกัน
               เงินเหรียญสหรัฐเริ่มหมดเสน่ห์ แต่จะทิ้งไปหาสกุลอื่น นอกจากแคนาดากับออสเตรเลียซึ่งเป็นสกุลค่อนข้างเล็กแล้ว ก็หาสกุลที่เต็มใจต้อนรับไม่ได้ ส่วนหนึ่งจึงต้องหันไปซื้อทรัพย์สินอื่นมาถือไว้แทน จะเห็นว่าในช่วงนี้ ดัชนีตลาดหุ้นเกือบจะทั่วโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งดัชนีตลาดหุ้นในสหรัฐเอง ทั้งๆที่ปัญหาซับไพร์มยังไม่จบ
               ราคาทองคำและราคาสินค้าประเภทวัตถุดิบก็แข่งกันสูงขึ้น อีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นราคาน้ำมันที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
               สำหรับบ้านเรา สังเกตุว่าตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมา ท่านผู้ว่าแบงก์ชาติได้แสดงความยืดหยุ่นแบบเงียบๆ ในการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เศรษฐกิจไทยเสียเปรียบ ซึ่งในเรื่องนี้ ผมต้องขอแสดงความชื่นชม และขอคารวะท่านอย่างจริงใจ
                หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อสัปดาห์ก่อน เงินบาทก็กลับเริ่มแข็งค่าขึ้นมาทีละนิด ซึ่งยังเดาไม่ออกว่ามีการเปลี่ยนกลยุทธอะไรบ้าง
                อย่างไรก็ตาม ผมก็อยากให้กำลังใจท่านผู้ว่า และอยากเห็นท่านยืนหยัดทำในสิ่งที่ดี ที่ท่านได้ทำมาเดือนกว่าต่อไป
                ผมมีข้อเสนอแนะเล็กๆ ให้แก้ปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินด้วยการขึ้นอัตราส่วนเงินสดสำรองของระบบธนาคาร โดยมีดอกเบี้ยให้ บางที แบงก์ชาติยุคนี้อาจทำให้รัฐบาลขิงแก่โชคดี ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ทำให้ทุนสำรองของประเทศเพิ่มพูนขึ้นมาอยู่ในระดับแสนล้านเหรียญสหรัฐ

                 
 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California