สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                                   สิทธิสตรี

                                                                                                                                         อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    _____________________________________________________________________________________________________________________________________

 

                   ประเทศใหญ่ๆหลายประเทศในโลกนี้ มีผู้นำเป็นผู้หญิง นายกรัฐมนตรีเยอรมันเป็นผู้หญิง อาร์เจนตินาเพิ่งได้ประธานาธิบดีหญิงจากการเลือกตั้ง ผู้ที่มีคะแนนนิยมสูงสุดในหมู่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนี้ก็เป็นผู้หญิง ส่วนในอินเดีย แม้ว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะเป็นผู้ชาย แต่ที่ได้เป็นก็เพราะผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงสุด ซึ่งเป็นผู้หญิง สนับสนุนให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง
 

                   แม้แต่ในหมู่ประเทศอิสลาม ผู้หญิงก็มีประวัติเป็นผู้นำประเทศหลายคน ในปากีสถาน นักการเมืองที่มีบทบาทและมีคะแนนนิยมสูงสุดในขณะนี้ก็เป็นผู้หญิง ในอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีคนก่อนก็เป็นผู้หญิง ในขณะที่ในบังคลาเทศ ผู้นำที่ผลัดกันครองอำนาจมาสิบกว่าปีก่อนถูกทหารยึดอำนาจ ก็เป็นผู้หญิงด้วยกันทั้งคู่
 

                    แต่อีกด้านหนึ่ง ในอีกหลายๆพื้นที่บนโลกใบเดียวกันนี้ ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิไม่มีเสียงใดๆ เกิดมาเพียงเพื่อเป็นสมบัติและเป็นทาสรับใช้ของผู้ชาย
 

                     ลองมาฟังเรื่องของผู้หญิงชาวซาอุดิอาระเบียคนหนึ่ง เธออายุ 19 ปี ชื่อจริงไม่เปิดเผย แต่เป็นที่รู้จักกันในข่าวว่า “สาวคาทิฟ” (Qatif girl) ซึ่งเป็นชื่อเมืองที่เธออาศัยอยู่
 

                     ในเดือนตุลาคม 2549 เธอเพิ่งแต่งงานใหม่ๆ เธอได้รับการติดต่อ (น่าเชื่อว่าเป็นการแบล็กค์เมล์) จากอดีตนักเรียนชายร่วมโรงเรียนมัธยมว่าเขามีรูปถ่ายของเธออยู่ในมือ ถ้าอยากได้คืนให้ออกมาพบกันนอกบ้าน เธอรู้สึกเดือดร้อน เพราะโดยประเพณี หญิงที่แต่งงานแล้วไม่ควรมีรูปถ่ายอยู่ในมือชายอื่น แม้ว่าจะเป็นรูปธรรมดา ไม่โป๊ไม่เปลือย หรือจู๋จี๋อยู่กับแฟนก็ตาม
 

                      เธอนัดพบกับชายคนนั้น และนั่งรถไปด้วยกันเพื่อไปเอารูป ระหว่างทางทั้งคู่ถูกแก๊งผู้ชายกลุ่มหนึ่งจี้และลักพาตัวไป ฝ่ายหญิงถูกเรียงคิวข่มขืนโดยผู้ชาย 7 คน ฝ่ายชายก็ถูกผู้ชายด้วยกันข่มขืน 3 คน
 ตำรวจจับตัวได้ทันควัน ทั้งหมดถูกนำตัวไปขึ้นศาล และถูกตัดสินในเดือนเดียวกัน จำเลยทั้งหมดถูกตัดสินจำคุก 1 – 5 ปี และถูกโบยคนละ 80 – 200 ครั้ง เหยื่อทั้ง 2 คนถูกตัดสินจำคุกคนละ 6 เดือน และถูกโบยคนละ 90 ครั้ง
 

                      ศาลให้เหตุผลที่ลงโทษสาวเคราะห์ร้ายว่า เธอทำผิดที่ออกนอกบ้านโดยไม่ขออนุญาต และปรากฏตัวอยู่กับชายอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามตามหลักศาสนา นอกจากนั้น คนที่ทำผิดคนแรกในคดีข่มขืนนี้คือตัวเธอเอง ถ้าเธอไม่ฝ่าฝืนออกนอกบ้านในวันนั้น เธอก็จะไม่ถูกข่มขืน
 สาวเคราะห์ร้ายปรึกษากับสามีและทนายที่ช่วยว่าความให้ นึกถึงความอยุติธรรมที่เธอจะต้องถูกโบยมากกว่าผู้ที่ข่มขืนเธอบางคนเสียอีก จึงยื่นขอให้ศาลชั้นสูงขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พร้อมๆกับให้ข่าวกับสื่อของรัฐเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม
 

                      ศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา เพิ่มโทษจำคุกแก๊งข่มขืนจาก 1 – 5 ปี เป็น 2 – 9 ปี แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มโทษสาวเคราะห์ร้ายจากโบย 90 ครั้ง เป็น 200 ครั้ง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบอาชีพของทนาย และให้กระทรวงยุติธรรมเรียกตัวไปสอบวินัยในเดือนถัดไป สาเหตุที่ถูกเพิ่มโทษคือ ใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม ในครั้งนี้ข่าวดังไปทั่วโลกตะวันตก หลายประเทศออกมาประท้วง และแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน รวมทั้งวิพากย์วิจารณ์ระบบยุติธรรมของซาอุดิอาระเบีย ตลอดจนเรียกร้องให้กษัตริย์อับดุลลาทรงมีบัญชาให้คำตัดสินเป็นโมฆะ และเร่งกระบวนการปฏิรูประบบยุติธรรมซึ่งได้ทรงกำหนดไว้เป็นนโยบายอยู่แล้ว
 

                      หลักการที่สำคัญในเรื่องนี้คือ ถ้าผู้ถูกข่มขืนเสี่ยงที่จะต้องถูกลงโทษด้วย ต่อไปผู้ที่ถูกข่มขืนจะไม่กล้าแจ้งความหรือแสวงหาความยุติธรรม อาชญากรส่วนใหญ่ก็จะลอยนวล คดีนี้นอกจากจะมีคำถามเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจทั้งภายในและภายนอกซาอุดิอาระเบีย ดังนี้
 ภายในซาอุดิอาระเบีย มีคนโยงคดีนี้เป็นประเด็นศาสนา เพราะบังเอิญหญิงที่ถูกข่มขืนเป็นชีไอต์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ในขณะที่แก๊งคนร้ายเป็นซุนนี ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ ทำให้เกิดความรู้สึกในหมู่ชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งว่าการตัดสินไม่เป็นธรรม และโทษที่ผู้กระทำผิดได้รับเบาบางเกินไป กล่าวกันว่า ผู้ที่มีความผิดในคดีข่มขืนมักจะถูกประหารชีวิต
 

                      นอกซาอุดิอาระเบีย มีคนตั้งข้อสังเกตุว่าปฏิกิริยาในหมู่ประเทศตะวันตกระหว่างของรัฐบาลกับของกลุ่มคนในสังคมที่ไม่ใช่รัฐแตกต่างกันมาก กลุ่มที่ไม่ใช่รัฐเกือบทั้งหมดจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินอย่างรุนแรง รวมทั้งมีการเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศของตนประท้วงหรือประณามคำพิพากษานี้อย่างเป็นทางการ ในขณะที่ รัฐบาลส่วนใหญ่กลับพยายามพูดถึงเรื่องนี้ให้น้อย และเลือกคำพูดด้วยความระมัดระวัง เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีเสียงวิจารณ์ต่อไปว่า จริยธรรมของรัฐบาลตะวันตกมี 2 มาตรฐาน ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในอิหร่าน ป่านนี้อิหร่านคงถูกถล่มยับเยินในเวทีสังคมโลกไปแล้ว
 

   บ่อน้ำมันของซาอุดิอาระเบียใหญ่พอที่จะทำให้มหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายต้องเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษ
 

                                           กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California