สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                                 วัยทำงาน

                                                  

                                                                                                                                         อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    ____________________________________________________________________________________________________________________________________

                พอผ่านวาเลนไทน์ไปไม่กี่วัน สำหรับเด็กที่อยู่วัยเรียน ฤดูสอบไล่ปลายปีก็กระชั้นเข้ามา ในจำนวนนี้ มีไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านคนที่เมื่อสอบเสร็จแล้ว ก็จะก้าวออกจากประตูโรงเรียนหรือสถาบันที่ศึกษาอยู่เป็นครั้งสุดท้าย โดยไม่มีวันได้หวนกลับมาอีก เด็กเหล่านี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก จะต้องเริ่มต้นชีวิตของการต่อสู้เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง รวมทั้งอาจจะต้องรับผิดชอบหาเลี้ยงครอบครัวที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะมีต่อไปในอนาคต

                วันก่อนผมไปออกรายการมันนี่ทอล์คของ ดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ที่นิด้า ในหัวข้อเรื่อง เอ็มบีเอที่โลกธุรกิจต้องการ มีประเด็นที่น่าสนใจ และอาจเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบและกำลังหางานทำ ที่ผมอยากหยิบยกขึ้นมาพูดและขยายความต่อไป ดังนี้

      ผมเชื่อว่าถ้าไม่เลือกงานจนเกินไป เกือบทุกคนจะหางานได้ ตลาดแรงงานในบ้านเราไม่ถึงกับเลวร้ายมากนัก ในระดับล่าง เรายังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาตินับล้านคน ทำไปเถอะครับ งานที่สุจริต ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าน่าจะได้งานที่ดีกว่า และผลตอบแทนสูงกว่า ทำไปเถอะครับ ถือว่าเป็นการหาประสบการณ์ และหาความรู้เพิ่มด้วยการปฏิบัติ โดยไม่ต้องเสียค่าเรียน ดีกว่าอยู่เฉยๆ รองานที่คิดว่าดี แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะหาได้ และไม่รู้ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน ที่พูดเช่นนี้ เพราะผมกำลังจะแนะนำต่อไปว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่า งานแรกที่ทำ เป็นงานที่จะต้องทำต่อไปตลอดชีวิต

          เหมือนกับที่ไม่ควรยึดมั่นว่า หนุ่มสาวที่ได้พบในวาเลนไทน์แรก จะต้องกลายเป็นเนื้อคู่ ที่แต่งงานและอยู่กินกันไปจนตาย  ผมอยากแนะนำว่า ในช่วงปีแรกๆที่เริ่มทำงาน ให้เปลี่ยนงานหลายๆครั้ง ผมถือว่า ทุกคนควรมีโอกาสได้เห็นดอกไม้หลายๆดอก และมีสิทธิที่จะเลือกดอกที่สวยที่สุดให้กับชีวิต แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนงานก็เหมือนการกระทำอื่นๆ คือต้องยึดหลักว่าไม่เบียดเบียนหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ไม่ควรทำให้นายจ้างเก่าเสียประโยชน์หรือเสียหาย เช่นหมกมุ่นอยู่กับการหางานใหม่จนไม่เป็นอันทำงาน เอาเวลางานไปหางาน เอาความลับไปแพร่งพรายหรือกลับมาแย่งลูกค้า ผิดสัญญาจ้างงาน ตลอดจนทะเลาะกับนายจ้างและเพื่อนร่วมงานก่อนลาออก เป็นต้น

                ผมเชื่อว่าถ้าการเปลี่ยนงานเป็นไปโดยบริสุทธิ์ คือหน้าที่การงานดีขึ้น รายได้สูงขึ้น ทั้งนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน ถึงจะเสียดายก็คงจะยินดีด้วย และไม่คิดจะขัดขวาง ที่ผมเน้นเรื่องการเปลี่ยนงาน เพราะมีเหตุผล 2 ประการ ดังนี้

                หนึ่ง วัฒนธรรมตะวันออก ทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ มักจะพร่ำสอนเด็กใหม่ที่เริ่มทำงาน ให้รักและซื่อสัตย์ต่อองค์กร เหมือนนักศึกษาใหม่ที่ถูกรุ่นพี่ตอกย้ำให้รักสถาบัน บางบริษัทมีการอบรมปฐมนิเทศน์พนักงานใหม่คล้ายกับพิธีรับน้องในมหาวิทยาลัย ผมเองก็เชื่อว่า ความรักองค์กรและสายสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ต้องไม่สำคัญไปกว่าการได้ทำงานที่อยากทำ ได้ทำงานที่เหมาะกับบุคคลิกและความถนัดของตน และได้งานที่ทำแล้วมีความสุข การเลือกอาชีพที่ถาวรมีส่วนเหมือนการแต่งงาน คือต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน หมดสมัยของการคลุมถุงชน ที่คนแปลกหน้า 2 คนจะต้องปรับตัวเข้าหากันโดยไม่มีทางเลือก

                สอง ช่วงเวลาที่เหมาะกับการเปลี่ยนงาน คือช่วงปีแรกๆของการทำงาน ถ้าเปลี่ยนงานหลังจากทนทำไปแล้ว 10 หรือ 20 ปี โอกาสที่จะเกิดปัญหาจะสูงกว่ามาก เพราะในวัยกลางคน การเรียนรู้งานใหม่จะยากกว่า และที่สำคัญ การเข้าไปอยู่ในสังคมทำงานแห่งใหม่ในระดับกลางๆ จะมีความเสี่ยงรอบด้าน เช่น จะทำงานเข้าขากับผู้บังคับบัญชาใหม่และเพื่อนร่วมงานใหม่ได้หรือไม่ และจะเป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชากลุ่มใหม่หรือไม่
อีกประเด็นที่ผมอยากจะแนะนำเกี่ยวกับการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน คือการออมและการวางแผนการเงินสำหรับอนาคต ถ้าไม่คิดไม่เริ่มทำตั้งแต่ต้น กว่าจะรู้ตัวบางครั้งก็สายเกินแก้

                สถาบันศึกษาต่างๆ น่าจะพิจารณาจัดให้มีวิชาเรียนภาคบังคับ หรืออย่างน้อยก็ให้มีการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคล ก่อนจะให้ปริญญาหรือประกาศนียบัตร ทุกวันนี้ เด็กที่กำลังจะเรียนจบมักสนใจเฉพาะเรื่องการหางาน และวัดความสำเร็จของตนว่าได้งานที่ไหน เงินเดือนเท่าไร พอมีรายได้แล้วก็เริ่มอยากมีเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ และอยากมีรถขับ รวมทั้งอยากดื่มกินตามภัตตาคารและสถานบันเทิง เป็นต้น เมื่อเงินเดือนไม่พอใช้ ก็หมุนเวียนด้วยระบบบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลต่างๆ ที่สถาบันการเงินแข่งขันกันมาเสนอบริการให้

                 ผมอยากแนะนำให้มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้ไปหาหนังสือชื่อ “ออมก่อน รวยกว่า” มาอ่าน เป็นหนังสือที่เขียนโดยคุณนวพร เรืองสกุล ผู้ก่อตั้งและเป็นเลขาธิการคนแรกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หนังสือเล่มนี้จะช่วยวางรากฐานเรื่องการวางแผนการเงินสำหรับอนาคตที่ทุกคนพึงมีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน

 
 

                                    กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

                 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California