สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                                 ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

 

         

                                                ปิโตรดอลลาร์

                                                  

                                                                                                                                         อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    ____________________________________________________________________________________________________________________________________

 

            คำว่าปิโตรดอลลาร์ (Petrodollar) โด่งดังมากเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน หลังจากน้ำมันขึ้นราคาระลอกใหญ่ และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีเงินเหลือมาก จึงเกิดการรีไซเคิลเงินเหลือใช้จำนวนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของการให้กู้ยืม ผ่านตลาดอ๊อฟชอร์ในลอนดอน นิวยอร์ก ฮ่องกง และสิงคโปร์ ไปยังประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
แต่หลังจากนั้น ราคาน้ำมันก็ทรงกับทรุดอยู่ร่วม 20 ปี และถูกกัดกร่อนด้วยเงินเฟ้อ ในขณะที่การใช้จ่ายของกลุ่มประเทศที่ส่งออกน้ำมันเองก็สูงขึ้น ปริมาณเงินเหลือใช้จึงลดลงเป็นลำดับ จนคำว่าปิโตรดอลลาร์เกือบจะถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของชาวโลก

            ช่วง 4-5 ปีหลัง ราคาน้ำมันกลับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง จากระดับ 20 กว่าเหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จนเกิน 100 เหรียญสหรัฐแล้วในปัจจุบัน การสูงขึ้นของราคาน้ำมันในครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะถาวรกว่าการขึ้นราคาในอดีต ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ

            หนึ่ง เศรษฐกิจโลกโดยเฉลี่ยยังสามารถขยายตัวไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ถูกกระทบรุนแรงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว

            สอง ความสามารถในการผลิตน้ำมันของโลกใกล้ถึงจุดอิ่มตัว หรืออาจจะผ่านจุดอิ่มตัวไปแล้วด้วยซ้ำ ที่ระดับ 80 กว่าล้านบาร์เรลต่อวัน มีบางประเทศที่ยังเพิ่มกำลังผลิตได้ แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่กำลังผลิตลดลง ส่วนเพิ่มเพียงแค่ชดเชยส่วนที่ขาดหายไป แม้แต่ซาอุดิอาระเบียที่เคยผลิตสูงสุดเกือบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็ถดถอยเหลือเพียง 8 ล้านกว่าเมื่อปีที่แล้ว และปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 9 ล้าน

            นอกจากนั้น แหล่งน้ำมันที่ค้นพบใหม่ในโลกนี้ก็มีน้อยลง ไม่ทันกับปริมาณที่ผลิตออกมาใช้ โอกาสที่จะค้นพบแหล่งใหม่ขนาดใหญ่แทบจะไม่มี

            ราคาที่สูงขึ้นมาหลายเท่า ทำให้ประเทศที่ส่งออกน้ำมันกลับมามีเงินเหลือใช้เป็นจำนวนมากอีกครั้งหนึ่ง คำว่าปิโตรดอลลาร์เริ่มกลับมาแพร่หลาย แต่รูปแบบของการรีไซเคิลปิโตรดอลลาร์มีแนวโน้มว่าจะแตกต่างจากที่เคยเป็นในอดีต ประเทศจีน ที่ได้ชื่อว่าเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาล และสะสมทุนสำรองไว้แล้วกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าเอาจีนไปเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันบางประเทศ อาจต้องสรุปว่าความมั่งคั่งที่จีนมียังอยู่ในระดับต่ำ

            ลองนึกภาพซาอุดิอาระเบียส่งออกน้ำมันวันละ 8-9 ล้านบาร์เรล ที่ราคาประมาณ 100 เหรียญ แต่ละวันมีรายได้เกือบ 1 พันล้านเหรียญ หรือปีละกว่า 3 แสนล้านเหรียญ หักการใช้จ่ายต่างๆไปสัก 10-20% ก็ยังมีเงินเหลือมากกว่าการเกินดุลของจีนมากนัก

            โปรดนึกต่อไปว่า การเกินดุลของจีนเกิดจากการทำงานหนักของคนกว่า 1,300 ล้านคน ในขณะที่การเกินดุลของซาอุดิอาระเบียเกิดจากการแทบจะไม่ต้องทำงานของคนไม่ถึง 30 ล้านคน เงินที่เหลือใช้นี้ ในหลายประเทศถูกนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนที่เรียกว่า กองทุนความมั่งคั่งของประเทศ (Sovereign Wealth Fund) กองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเวลานี้คือ กองทุนเอดีไอเอ (Abu Dhabi Investment Authority) ของประเทศยูเออี ซึ่งมีทรัพย์สินสุทธิประมาณ 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

             ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีเงินมากกว่ายูเออีเสียอีก ที่ผ่านมาเก็บเงินเหลือใช้บางส่วนไว้ในรูปทุนสำรอง ที่เหลือกระจายไปไว้ในหลายๆจุด เพื่อไม่ให้เป็นเป้าสายตาของผู้ไม่ประสงค์ดีทั้งหลาย แต่ขณะนี้มีข่าวว่ากำลังจะจัดตั้งกองทุนที่จะใหญ่กว่าเอดีไอเอ

             นอกตะวันออกกลาง ก็มีประเทศที่จัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งจากการขายน้ำมันเช่นกัน ที่มีขนาดใหญ่เช่น ของนอร์เวย์ ประมาณ 3.5 แสนล้านเหรียญ และของรัสเซีย ประมาณ 1.6 แสนล้านเหรียญ เป็นต้น มีข้อสังเกตุเกี่ยวกับการรีไซเคิลปิโตรดอลลาร์ในครั้งนี้ ดังนี้

             ประการแรก ในหมู่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิ มีเพียงสหรัฐเท่านั้นที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปริมาณสูง และมีความต้องการในการกู้ยืม ส่วนประเทศอื่นๆที่เหลือทั่วโลก โดยเฉลี่ยยังเกินดุลอยู่ กล่าวคือ กลุ่มเอเซียตะวันออกเกินดุลค่อนข้างมาก กลุ่มประชาคมยุโรปประมาณสมดุล ประเทศที่เหลือรวมกันก็ประมาณสมดุล พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ นอกจากสหรัฐแล้ว ประเทศอื่นๆไม่เต็มใจเป็นหนี้ และส่วนใหญ่บริหารฐานะการเงินของประเทศด้วยความระมัดระวังมากกว่าในอดีต

              สำหรับสหรัฐ ถึงแม้จะเป็นหนี้จำนวนมหาศาล แต่เราก็ไม่ต้องกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะล่มสลายเหมือนของประเทศไทยใน พ.ศ. 2540 เพราะสหรัฐเป็นหนี้ในสกุลเงินของตัวเอง ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ เงินเหรียญสหรัฐอาจอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ

              ประการต่อมา เมื่อมีประเทศที่ต้องการกู้ยืมน้อย และสหรัฐไม่ยอมกู้ยืมเป็นสกุลอื่น การรีไซเคิลปิโตร ดอลลาร์ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบ เช่น นำมาจัดตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งมากขึ้น เป็นเงินฝากในตลาดอ๊อฟชอร์น้อยลง ซึ่งกองทุนเหล่านี้ก็จะลงทุนโดยคำนึงถึงผลระยะยาวมากกว่า สัดส่วนที่นำมาลงทุนในหุ้นและซื้อเป็นทรัพย์สินมีมากขึ้น รวมทั้งมีการเลือกลงทุนในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสูง ตลอดจนกระจายการลงทุนไปสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

              ถ้าประเทศไทยจะใช้ความรู้นี้ให้เป็นประโยชน์ ก็ควรหาวิธีเชิญชวนให้เขามาลงทุนมากขึ้น แต่ที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือการคิดไปขอกู้ เหมือนอย่างที่ชอบคิดกัน
                 
 

                                    กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

                 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                          ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California