สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                                 ABOUT US      EVENTS      NEWS    |    ALUMNI BOARD      CONTACT US

 

         

                                                                            คน

                                                                

                                                                                              ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

                                                                                                                                                        

              ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มงานเป็นวิศวกรโรงงานแต่เอาดีไม่ได้ เลยเบนเข็มทิศงานโดยเข้าสู่วงการโฆษณา หลังจากนั้นเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Brand Connections ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาของคนไทย ในช่วงที่วงการโฆษณาของเมืองไทยมีแต่บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่  Brand Connections นำเสนอรูปแบบการโฆษณาแบบเบ็ดเสร็จแก่ลูกค้า จนประสบความสำเร็จอย่างมาก ปัจจุบันบริษัทของเขามียอดขาย กว่าพันล้านบาท ลูกค้าปัจจุบันคือ True, UBC, 7-11, Warner Brothers, และ 20 Century Fox  เป็นอาทิ  ประเสริฐมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการตลาดและโฆษณาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและวารสารด้านการตลาดอื่นๆ

          _____________________________________________________________________________________________________________________________________

                 

 

หัวใจสำคัญที่จะทำให้แบรนด์ของคุณมีพลังหรือพับฐาน มาจากคุณภาพของคำว่า “คน” ที่อยู่เบื้องหลัง   แบรนด์นั้น ๆ

คนคือตัวช่วยนำพาให้แบรนด์ของคุณเดินไปถึงจุดหมาย หรือเดินตกท่อ

ถ้าอย่างนั้นมาดูว่าคำว่าคนมีผลอย่างไรต่อความสำเร็จของแบรนด์

ขอเริ่มต้นจากประเด็นว่า  การสร้างแบรนด์ที่แยบยลไม่ได้มุ่งหวังเพียงให้มีมนต์เสน่ห์กับผู้บริโภค  แบรนด์ที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นได้ต้องทำครบวงจร โดยแบรนด์ต้องมีอิทธิพลกับ Stakeholders ทุกกลุ่ม

Stakeholders ของแบรนด์คือลูกค้า พนักงานขององค์กรที่เป็นเจ้าของแบรนด์ และผู้ถือหุ้นขององค์กรนั้น ๆ

สำหรับพนักงานขององค์กรที่เป็นเจ้าของแบรนด์

แบรนด์ที่ยิ่งใหญ่จะมีความกระจ่างในเป้าประสงค์ว่ากำเนิดเกิดมาเพื่ออะไร  และแก่นของตัวแบรนด์มีอิทธิพลกับวิธีคิดและการกระทำของพนักงานขององค์กร

เป็นเหตุผลที่ทำให้พนักงานแต่ละคนมาทำงานด้วยความกระตือรืนร้น ทำให้คนทำงานพร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฟันอุปสรรค  ยินดีที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ถึงแม้จะพบกับความยากลำบาก

ทำให้พนักงานเห็นว่าภารกิจของเขามีความหมายที่ใหญ่กว่าคำว่า “ งานคือการรับเงินเดือน ”

ช่วยให้พนักงานเปิดก็อกสองของพลังสมองมาเดินหน้าเรื่องงาน  เพื่อส่งมอบประสบการณ์ดี ๆ กับลูกค้า

แบรนด์คือ Organizing force ที่รวบรวมกลุ่มคนที่มีความคิดอ่านแบบเดียวกันมาอยู่ร่วมกัน  ยึดและโยงใยให้ผู้คนมาทำงานร่วมกันเพื่อเดินหน้าภารกิจไปถึงจุดหมาย

กระบวนการสร้างแบรนด์ที่สมบรูณ์แบบคือการสร้างปฏิกริยาลูกโซ่เป็นวงกลม

แบรนด์ทำให้พนักงานมีความสุข ความสุขทำให้คนทำงานเกินร้อย  เพื่อส่งมอบคุณค่าแบรนด์แบบเกินความคาดหมาย

แล้วสุดท้ายเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้น

เมื่อความสำเร็จของแบรนด์มีจุดเริ่มต้นมาจากคำว่า “คน” ดังนั้นการบริหารจัดการเรื่องคนจึงมีความสำคัญควรค่าแก่การศึกษา

เริ่มต้นที่การคัดเลือกคน ผมเชื่อว่าวิธีในคัดเลือกคนเราควรให้ความสำคัญกับเรื่อง “ทัศนคติมากกว่าคำว่าประสบการณ์หรือฝีมือ”

เพราะทัศนคติสอนกันไม่ได้ แต่ฝีมือสามารถขัดเกลาเสริมเติมแต่ได้

อีกมุมหนึ่งของวิธีการคัดเลือกผู้คน คือเลือกคนที่มีความรักหรือมี Passion ในสิ่งที่ตนเองทำ คนเราถ้ารักอะไร ก็จะผลักดันให้ตนเองมีความเป็นเลิศในเรื่องนั้น

ในประเด็นของการพัฒนาคน องค์กรต้องให้ความสำคัญกับคำว่า Life time learning มากกว่าคำว่าการฝึกอบรมในห้องแอร์เย็น ๆ โดยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ให้ผู้คนมีความหิวกระหายที่อยากจะเรียนรู้ สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกวันให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่รอให้คนมาป้อนความรู้แบบตักใส่ปากในห้องฝึกอบรม

เคยได้ยินคำว่า “Kaisen” ไหมครับ เป็นปรัชญาในการพัฒนาตนเองของคนญี่ปุ่น วิธีคิดแบบนี้มาจากความเชื่อที่ว่า ทุก ๆ วันผู้คนต้องมีพัฒนาการให้ดีขึ้นจากเมื่อวานนี้

ตัวอย่างเช่นถ้าทุก ๆวันเรามีพัฒนาการดีขึ้นจากเมื่อวันวาน 0.1 % ในหนึ่งปีคนคนนั้นจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น 36.5%

Kaisen คือต้นแบบของการพัฒนาตนเองตลอดชีวิต และการเรียนรู้ก็ต้องเป็นแบบชั่วชีวิตเหมือนกัน ไม่ใช่ทำตัวเป็นแบบลูกนกเอี้ยงรอให้คนมาป้อนอาหาร

สุดท้ายคือระบบบริหารจัดการที่จะรักษาคนดีไว้ในองค์กร ปรัชญามีง่ายนิดเดียวคือการดูแลทุกข์สุขของคนในองค์กรอย่างจริงใจ แบบต่อเนื่องและยืนยาว

 

                                               กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                          ABOUT US      EVENTS    |    NEWS      ALUMNI BOARD      CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California