สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                                 ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

 

         

                                     เกษตรกรกับค่าครองชีพ

                                                  

                                                                                                                                         อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    ____________________________________________________________________________________________________________________________________

      

            เป็นเวลากว่า 20 ปีที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ แม้แต่ในช่วงฟองสบู่ที่เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 10% เงินก็ไม่เฟ้อมาก หลังฟองสบู่แตก ค่าเงินบาทลดลงเหลือครึ่งเดียว สินค้านำเข้าหลายอย่างแพงขึ้นมาก แต่ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยก็ยังต่ำได้อย่างน่าพิศวง

            ถ้าจะมีคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นหนี้บุญคุณในเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด คนกลุ่มนั้นก็คือเกษตรกรนั่นเอง

            เกษตรกรไทยไม่ได้เก่งเฉพาะปลูกข้าว แต่ปลูกพืช ผัก ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีกสาระพัดชนิด จนทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่รายหนึ่งของโลก มีข้อสังเกตุเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ 2 ประการ คือ   

               หนึ่ง ความสำเร็จของภาคการเกษตรเกิดขึ้นทั้งๆ ที่เกษตรกรแทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ การทุ่มเทงบประมาณเพื่อประกันราคาพืชผลที่มีอยู่เป็นประจำ มักจะได้ผลไม่คุ้มค่า และผลประโยชน์มักจะตกอยู่ในมือพ่อค้า หัวคะแนน และกลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมือง มากกว่าที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง อาจจะมีเพียงชาวไร่อ้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์อย่างจริงจัง เพราะบังเอิญมีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มโรงน้ำตาล ทำให้มีอำนาจต่อรองในการสร้างกลไกกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ

               สอง ความสำเร็จของภาคการเกษตรเกิดขึ้น โดยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวย หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม คือเกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัวมากขึ้น และจำนวนครัวเรือนที่สูญเสียที่ดินทำกินมีมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น ทำให้เกิดภาวะล้นตลาดในประเทศ ในขณะที่ในตลาดส่งออกก็มีคู่แข่งมากขึ้น ส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนที่แคบลง ทำให้ผลกำไรโดยรวมไม่ได้สูงขึ้นตามปริมาณการผลิต

            นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเกษตรกร ที่บางครั้งสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง เช่นปัญหาไข้หวัดนกที่มีต่อการเลี้ยงไก่ และการนำเข้าผลไม้ราคาถูกจากจีนที่มีต่อชาวสวนผลไม้ เป็นต้น
เพิ่งมาในช่วง 3-4 ปีหลัง ที่ผลิตผลเกษตรมีแนวโน้มของราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรโดยเฉลี่ยมีรายได้มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มากพอที่จะลบล้างภาระหนี้เดิม ยังไม่มากพอที่จะยกความเป็นอยู่ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ยังไม่มากพอที่จะเก็บออมเพื่ออนาคต และยังไม่มากพอที่จะลงทุนเพื่อปฏิรูประบบการผลิต

            แต่อีกด้านหนึ่ง ราคาผลิตผลเกษตรที่สูงขึ้น ได้เริ่มมีผลกระทบต่อดัชนีค่าครองชีพ กลุ่มที่เดือดร้อนคือคนที่อยู่ในเมืองและมนุษย์เงินเดือน กลุ่มนี้เสียงดัง และรัฐบาลก็เต้นตาม ดังจะเห็นได้จากการพยายามควบคุมราคาเนื้อหมู และราคาสินค้าอื่นๆ

            เป็นอันว่าเกษตรกรถูกรัฐบีบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ให้ขายผลผลิตได้ในราคาที่ควรได้ ทั้งๆที่ฐานะก็ยากจนกว่า โอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมก็มีน้อยกว่า แต่ต้องกลายเป็นหนูตัวเล็กๆที่ถูกแล่เนื้อไปปะให้ช้าง
ผมไม่มีตัวเลขอยู่ในมือ แต่เชื่อว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรในบ้านเรา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ประชาชาติเป็นอันมาก

            ในประเทศที่เจริญแล้ว เกษตรกรมักจะได้รับการดูแลจากรัฐเป็นอย่างดี ไม่เฉพาะดูแลด้วยปากอย่างที่ชอบทำกันในบ้านเรา ราคาอาหารที่คนเมืองบริโภคมักจะถูกควบคุมให้สูง ไม่ใช่ให้ต่ำ เช่นราคาข้าวและเนื้อสัตว์ในเกาหลีและญี่ปุ่น ราคาผลิตภัณฑ์นมเนยในยุโรป เป็นต้น การจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ ก็มักจะจ่ายถึงมือเกษตรกรโดยตรง ที่สำคัญคือ รายได้ของเกษตรกรมักจะไม่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยรายได้ประชาชาติมากนัก ในบางประเทศเกษตรกรมีรายได้สูงกว่าอาชีพอื่นด้วยซ้ำไป เช่นในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันครอบครัวเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 9 หมื่นเหรียญ หรือ 3 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมทุกอาชีพประมาณ 20%

            ผมอยากให้สังคมไทยมองค่าครองชีพหมวดอาหารที่สูงขึ้น เป็นโอกาสที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนเมืองกับคนชนบท

            มองไปข้างหน้า ความต้องการบริโภคผลผลิตการเกษตรของโลกนี้มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูง แบบไม่มีขอบเขตจำกัด เพราะบางอย่างจะต้องนำไปผลิตและใช้เป็นพลังงานทดแทนในปริมาณมาก เช่นการนำเอาน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชอื่นๆ ไปผสมหรือใช้แทนน้ำมันดีเซล การเอาอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดไปผลิตแอลกอฮอลเพื่อผสมหรือใช้แทนน้ำมันเบนซีน เป็นต้น

            ประเทศเราโชคดี ที่มีทั้งทรัพยากรน้ำและแสงแดดที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคและส่งออก ส่วนที่เหลือก็นำมาผลิตพลังงานทดแทนเพื่อประหยัดการนำเข้าน้ำมัน

            รัฐบาลควรยกเลิกระบบการแทรกแซงและควบคุมราคา ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยอิสระ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตรวมสูงสุด งบประมาณที่มีควรทุ่มเทให้กับการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาระบบการจัดเก็บ การขนส่ง การแปรรูป และการตลาด และถ้าจะช่วยเกษตรกรโดยตรง ก็จ่ายให้ถึงมือ จะได้ทั่วถึง และไม่รั่วไหล

            อย่าไปเสียเวลากับการควบคุมราคาหมู หรือเก็งกำไรราคาข้าวเลยครับ ทำให้คนที่ต้องลงทุน ลงแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ เสียความรู้สึกเปล่าๆ
 

   
                 

                                     กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

                 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                          ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California