สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                                 ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

 

         

                                                 บอร์ดบอด

                                                  

                                                                                                                                         อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    ____________________________________________________________________________________________________________________________________

         ช่วงนี้ สำหรับคนทั่วไปเป็นเทศกาลสงกรานต์ สำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เป็นเทศกาลประชุมผู้ถือหุ้น

         สงกรานต์ทุกปี จะมีคนฆ่าตัวตายด้วยการเมาแล้วขับ ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ก็มักจะตายเอง ถ้าเป็นรถยนต์หรือรถบรรทุก ก็มักจะมีคนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่พลอยตายไปด้วย

         สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้น มักจะมีกรรมการครบวาระ 3-4 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะได้รับเลือกกลับเข้ามาใหม่
 ผมเพิ่งได้อ่านบทความในหนังสือยูโรมันนี ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ชื่อ Board stupid หรือ บอร์ดโง่ เลยถือโอกาสดัดแปลงมาเป็นชื่อเรื่องวันนี้

         เขาเขียนเรื่องความเสียหายนับแสนล้านเหรียญสหรัฐของธนาคารใหญ่ๆ ในสหรัฐและยุโรป เขาเตือนผู้ลงทุนหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ขาดทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก บอกว่าอย่าหวังพึ่งกรรมการอิสระให้คอยช่วยดูแลไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะจะผิดหวัง กรรมการธนาคารส่วนใหญ่ไม่มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ และคุณสมบัติที่เหมาะสม จึงหวังให้ทำหน้าที่ที่พึงต้องรับผิดชอบไม่ได้

         ตอนแรกผมคิดว่าเขาพูดถึงเมืองไทยเสียอีก อ่านต่อไปแล้วจึงรู้ว่าไม่ใช่

         เขาบอกว่า ในโลกปัจจุบัน ธุรกิจการเงินน่าจะเป็นธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุด

         ผมขอเสริมเองว่า ไม่ว่าจะสลับซับซ้อนที่สุดหรือไม่ แต่เสี่ยงต่อความเสียหายมากที่สุด เพราะถึงแม้จะเป็นบริษัทจำกัด แต่เวลาเสียหาย อาจเสียหายมากกว่าทุนที่ลงไปนับสิบเท่า เพราะจะเสียหายไปถึงเงินฝากประชาชน ทำให้รัฐบาลต้องเอารายได้ภาษีมาแบกรับแทน ทุกคนคงจำกันได้ดีว่า ความสูญเสียหลังวิกฤตปี 2540 ที่ไปกองรวมกันที่กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเงินนับล้านล้านบาท ล้วนมาจากปัญหาคล้ายกันนี้ทั้งสิ้น

         เขาบอกว่า กรรมการธนาคารส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องการธนาคาร เรื่องความเสี่ยงสินเชื่อ เรื่องระบบควบคุมภายใน และเรื่องการบริหารความเสี่ยง บ่อยครั้งที่ในคณะกรรมการทั้งคณะ มีคนที่รู้เรื่องเพียงคนเดียว คือซีอีโอ เขายกตัวอย่างเมอริลล์ ลินช์ ซึ่งขาดทุนจากปัญหาซับไพรม์กว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ หลังจากซีอีโอคนเก่าลาออกไป และสรรหาคนใหม่มาแทนแล้ว ก็ยังมีปัญหาเดิม คือซีอีโอคนใหม่เป็นคนเดียวในคณะกรรมการที่รู้เรื่องการธนาคาร

         จากการศึกษาธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกสิบกว่าแห่ง เขาพบว่ากลุ่มที่เสียหายมากในรอบนี้ มักจะมีคณะกรรมการที่รู้เรื่องการธนาคารน้อย

         ตัวอย่างจากฝั่งยุโรปก็ให้ผลคล้ายกัน คือ ธนาคารยูบีเอส ซึ่งเสียหายมาก มีเพียงตัวประธานกรรมการและรองประธานกรรมการบริหารที่รู้เรื่องการธนาคาร ส่วนธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งเสียหายน้อย มีกรรมการกว่าครึ่งหนึ่งที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการธนาคารเป็นอย่างดี

         ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารบางแห่ง ยอมรับกับเขาโดยไม่ยอมให้เปิดเผยชื่อว่า ระบบการแต่งตั้งคณะกรรมการ มีส่วนสำคัญในการทำให้ธุรกิจการธนาคารมีปัญหา เขาแนะนำให้ผู้ถือหุ้นอย่าอยู่เฉย เพราะผู้ถือหุ้นมีสิทธิที่จะปกป้องเงินลงทุนของตนเอง โดยการเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีคุณภาพ

         ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะปัญหาในบ้านเรามีมากกว่าเขาเสียอีก

         มีคนวิจารณ์แบบติดตลกว่า ในบ้านเขา คณะกรรมการทั้งคณะอาจจะมีคนรู้เรื่องเพียง 1 คน แต่ในบ้านเรา ทั้งคณะอาจจะไม่มีคนรู้เรื่องแม้แต่คนเดียว

         อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะบ้านเรามีธนาคารของรัฐและกึ่งรัฐนับจำนวนเกือบไม่ถ้วน ธนาคารกึ่งรัฐหมายถึงธนาคารที่ได้ชื่อว่าเป็นเอกชน แต่รัฐยังถือหุ้นอยู่เกือบครึ่ง การเมืองมักจะเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการและซีอีโอ ถึงจะมีกระบวนการสรรหา ก็มักจะเป็นการสรรหาตามใบสั่ง วัฏจักรแห่งการล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้ม จึงยังไม่มีแนวโน้มจะหมดไปจากระบบการเงินของไทย

         ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน ที่จะต้องคอยกลั่นกรองให้ดี ก่อนให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการและซีอีโอของธนาคาร จะหวังพึ่งกระทรวงการคลังคงไม่ได้ เพราะกระทรวงการคลังย่อมหวังผลทางเศรษฐกิจระยะสั้นในระหว่างที่เป็นรัฐบาล มากกว่าจะคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบในระยะยาว นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอาจไม่เข้าใจประเด็นละเอียดอ่อนของระบบการเงินเท่าที่ควร

         ผมอยากเสนอให้แบงก์ชาติดำเนินการเกี่ยวกับคณะกรรมการของสถาบันการเงินในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารของรัฐและกึ่งรัฐ ดังนี้

            หนึ่ง ให้มีกรรมการอิสระไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ

            สอง กรรมการอิสระต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าในสถานะใดๆ และต้องไม่เป็นข้าราชการ เพราะอาจจะทำให้อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง

            สาม ในกลุ่มกรรมการอิสระ ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งต้องมีประสบการณ์ในธุรกิจการธนาคาร และต้องมีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องบริหารความเสี่ยง

         อย่าให้คนเมาเหล้าและคนขับรถไม่เป็น มีโอกาสขับรถโดยสารสาธารณะเลยครับ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ไม่ปลอดภัยทั้งผู้โดยสารและคนอื่นๆ บนท้องถนน

          ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ดีกว่าต้องตามไปรักษาคนเจ็บ และเก็บศพคนตายในภายหลัง         
 

   
                 

                                     กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

                 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                          ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California