สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                                 ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

 

         

                              น้ำมันลิตรละ 45 บาท..จะอยู่กันอย่างไร?

                                                  

                                                                                                                                         อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    ____________________________________________________________________________________________________________________________________

 

              วันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ จะมีงานใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมกับข้อเรียกร้องล่วงหน้าขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกวันละ 9 บาท ซึ่งในขณะที่เขียนเรื่องนี้ ยังไม่ทราบว่าการพิจารณาจะได้ข้อยุติก่อนวันงานหรือไม่
สมัยก่อน ฝ่ายลูกจ้างมักจะขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบเผื่อให่ต่อรอง ซึ่งถ้าได้ตามที่เรียกร้อง ก็ไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันในตลาดโลกได้หรือไม่

               ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่า 9 บาทที่ฝ่ายลูกจ้างร้องขอ สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง อาจจะน้อยไปสักนิดด้วยซ้ำ จึงไม่มีเหตุอันควรที่การต่อรองจะต้องยืดเยื้อ

               คำถามต่อเนื่องคือ แล้วนายจ้างกับเจ้าของโรงงานจะอยู่ได้อย่างไร?

               คำตอบก็คือ หลังจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รัฐควรปล่อยให้กลไกตลาดมีโอกาสได้ทำงาน เลิกเสียเวลากับการพยายามควบคุมราคาสินค้า ด้วยการกดดันผู้ผลิต ถ้าปล่อยตามกลไกตลาด เศรษฐกิจจะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ยอมรับความเป็นจริง อย่าหลอกตัวเอง อย่าหวังลมๆ แล้งๆ ว่าราคาที่สูงขึ้นของสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เป็นเรื่องชั่วคราว และพยายามบิดเบือน สกัดกั้น ด้วยมาตรการชั่วคราวต่างๆ เพราะรังแต่จะสูญเปล่า และเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

                ถ้าน้ำมันจะไปถึงบาร์เรลละ 150 เหรียญ หรือมากกว่านั้น และราคาในประเทศจะไปถึงลิตรละ 45 บาท หรือมากกว่านั้น ก็จงอยู่กับมันอย่างสันติ ไม่จำเป็นต้องไปก่นด่าประเทศผู้ผลิต และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ควรคิดลด หรือเลิกเก็บภาษีน้ำมัน

                 ผมพูดมาเป็นปีแล้ว และก็จะยังขอยืนยันคำพูดต่อไปว่า ราคาน้ำมันแพงไม่เป็นผลเสียต่อประเทศไทย เพราะในโลกปัจจุบัน ราคาน้ำมันกับราคาวัตถุดิบและผลิตผลเกษตรเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน จุดแข็งของไทยคือ เป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบและผลิตผลเกษตรสุทธิ

                 น้ำมันยิ่งแพง ไทยอาจจะยิ่งได้เปรียบ

                 ผลกระทบที่เกิดกับดัชนีราคาผู้บริโภค และความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อย เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และต้องช่วยกันแก้ แต่ถ้าเข้าใจภาพรวม ปัญหาจะแก้ไม่ยาก ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ที่ผ่านมารายได้เฉลี่ยก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จะเห็นง่ายๆ จากยอดขายรถจักรยานยนต์และโทรศัพท์มือถือที่สูงลิ่ว

                 คนเลี้ยงสัตว์ก็น่าจะไปได้ดี ถ้ารัฐไม่เข้าไปควบคุมราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเนื้อหมู

                 คนมีรายได้ปานกลางและรายได้สูง ก็ได้รับการดูแลไปแล้ว จากการได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น และเอาเบี้ยประกันกับเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาหักลดหย่อนได้มากขึ้น

                 เหลือแต่กลุ่มแรงงานและพนักงานเงินเดือนน้อย ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน เพราะกลุ่มนี้โดนกระทบถึง 2 เด้ง ดังนี้

                     หนึ่ง เงินเดือนและรายได้อยู่ในระดับต่ำ ไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว จึงไม่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อน

                     สอง กลุ่มนี้จะมีสัดส่วนของรายได้ที่ต้องนำไปซื้ออาหารสูงมาก น่าจะเกิน 50% ด้วยซ้ำไป เพราะค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 35%

                     แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อตามประกาศของทางการจะอยู่ที่ระดับเพียง 5-6% แต่เฉพาะหมวดอาหารน่าจะสูงกว่านี้ไม่ต่ำกว่าเท่าตัว และตัวหลักในหมวดอาหารคือข้าว ยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องไม่ใช่การควบคุมราคา แต่ควรใช้มาตรการที่ทำให้คนที่มีรายได้น้อยมีเงินสดอยู่ในมือสำหรับซี้ออาหารมากขึ้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่ฝ่ายลูกจ้างร้องขอ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นที่สุด

                     สำหรับคนกินเงินเดือน ซึ่งรวมถึงข้าราชการทั้งหมด ผมอยากแนะนำให้เอางบรวมที่จะขึ้นเงินเดือน (ซึ่งในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันยังมีข้อจำกัดทั้งภาครัฐและเอกชน) มาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคงที่ คือทุกคนได้เท่ากันหมด อีกส่วนแปรผันตามฐานเงินเดือน

                     ส่วนที่คงที่ไม่ควรจะต่ำกว่าเดือนละ 200-300 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 9 บาท ส่วนนี้มีไว้ชดเชยราคาอาหารพื้นฐานที่สูงขึ้น เงินจำนวนนี้อาจใช้ทำอะไรได้ไม่มากสำหรับคนเงินเดือน 5-6 หมื่นบาท แต่มีความหมายมากสำหรับคนเงินเดือน 7-8 พันบาท

                     วิธีจัดสรรการขึ้นเงินเดือนแบบนี้ จะคล้ายกับการให้ค่าครองชีพที่สมัยก่อนนิยมทำกัน แต่ในสมัยหลังค่อยๆ หายไป

                     ความชอบธรรมของการขึ้นเงินเดือนส่วนที่คงที่คือ ไม่ว่ารวยหรือจน ทุกคนก็ต้องกินข้าวเหมือนกัน

                     มีคนบอกว่า คนจนกินข้าวมากกว่าคนรวยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีปัญญากินกับแกล้มและของขบเคี้ยวราคาแพง
 


                 

                                     กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

                 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                          ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California