สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                                 ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

 

         

                                                ไอซ์แลนด์

                                                                                                                                         อรุณ จิรชวาลา

      

           

               อรุณ จิรชวาลา สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น หลังจากเรียนที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน ก็สอบชิงทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จบการศึกษากลับมา ทำงานทางด้านการเงิน และการธนาคาร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายแห่ง ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว อรุณมีผลงานการเขียนมากมาย ทางด้านการเงิน และการธนาคาร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำของไทย

    ____________________________________________________________________________________________________________________________________

 

             วิกฤตซับไพร์มซึ่งได้พัฒนาเป็นวิกฤตสถาบันการเงิน ทำให้ตลาดหุ้นทรุดทั่วโลก เศรษฐกิจหลายประเทศถดถอย ล่าสุดกำลังจะได้เหยื่อรายใหม่ เป็นเหยื่อระดับประเทศเสียด้วย คือประเทศไอซ์แลนด์
อย่าเพิ่งคิดว่าไอซ์แลนด์เป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาเหมือนเรานะครับ ปีก่อนสหประชาชาติเพิ่งจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงสุดและประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก รายได้เฉลี่ยต่อหัวก็อยู่สูงถึงอันดับ 4 ของโลก คือปีละ 6.45 หมื่นเหรียญสหรัฐ

             ฟังชื่อแล้วไอซ์แลนด์น่าจะเป็นประเทศที่น่าสงสาร ควรจะหนาวเหน็บเพราะอยู่ใกล้ขั้วโลก แต่กลับโชคดีที่มีกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมไหลผ่าน ทำให้ทะเลมีปลาชุกชุม ทำอาชีพประมงได้เป็นล่ำเป็นสัน นอกจากนี้ ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยพลังน้ำและพลังไอน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ปั่นไฟฟ้าจนเหลือใช้ สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมถลุงแร่อลูมิเนียม โดยมีกำลังผลิตทั้งที่เดินเครื่องแล้วและที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง ปีละกว่า 1 ล้านตัน สำหรับรายได้จากภาคบริการที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการท่องเที่ยวเพื่อดูปลาวาฬในธรรมชาติ

              แต่ประเทศที่ควรจะร่ำรวยแห่งนี้มีปัญหาเรื้อรังมานานเรื่องวินัยการคลังและเรื่องเงินเฟ้อ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศต่างๆ หันมานิยมนโยบายการคลังแบบรัดกุม ฐานะของไอซ์แลนด์ก็ดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงมาก แต่ช่วง 3-4 ปีหลัง การแข่งขันในสนามเลือกตั้งทำให้นโยบายประชานิยมหวนกลับมา นโยบายการคลังเริ่มหย่อนยานอีกครั้ง บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น และภาระหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนเกิดปัญหาในรอบนี้ ไอซ์แลนด์มีภาระหนี้ต่างประเทศสูงถึง 5 เท่าของจีดีพี

              ธนาคารกลางของไอซ์แลนด์ใช้นโยบายดอกเบี้ยสูง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ แต่ผลพลอยได้ที่ไม่ได้ประกาศคือเพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
 สภาพเช่นนี้ไม่ต่างจากประเทศไทยก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 เท่าใดนัก และไอซ์แลนด์มีภาระเพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือ ธนาคารพาณิชย์ในประเทศซึ่งมีเพียง 3 ธนาคาร ต่างไปเปิดสาขาในหลายประเทศในยุโรป และให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงๆ จนทั้ง 3 ธนาคารมีหนี้สินรวมสูงถึง 8 เท่าของจีดีพี

              ภาระของไอซ์แลนด์หนักขึ้นทุกวัน พอมาเจอวิกฤตสถาบันการเงินที่ลามมาถึงยุโรป จึงโงนเงนทรงตัวไม่อยู่ สาเหตุหลักไม่ได้มาจากการขาดทุนในตราสารซับไพร์มหรือตราสารอนุพันธ์ แต่มาจากการขาดสภาพคล่อง ธนาคารหมุนเงินไม่ทันชำระคืนเจ้าหนี้และไม่พอรองรับการถอนของผู้ฝาก จนในที่สุดรัฐบาลและธนาคารกลางต้องกระโดดเข้ามาอุ้ม แต่ทุกคนก็รู้ว่าเหมือนเตี้ยอุ้มค่อม

              ขณะนี้ไอซ์แลนด์กำลังวิ่งหาแหล่งเงินกู้ วงเงินสว๊อปที่มีกับธนาคารกลางของเดนมาร์กและนอร์เวย์แห่งละ 200 ล้านยูโรก็เบิกมาใช้เต็มวงเงินแล้ว ล่าสุดกำลังเจรจากับรัฐบาลรัสเซียขอกู้จำนวน 4,000 ล้านยูโร แต่ก็มีข่าวลือว่ารัสเซียต่อรองขอใช้น่านน้ำและท่าเรือบางแห่งเพื่อประโยชน์ของกองทัพเรือ

              ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าไอซ์แลนด์หนีไม่พ้นต้องใช้บริการของไอเอ็มเอฟ กล่าวกันว่าภายในไอเอ็มเอฟเองก็กำลังตื่นเต้นกับเรื่องนี้ หายนะของไอซ์แลนด์อาจจะกลายเป็นห่วงชูชีพที่ช่วยไอเอ็มเอฟให้รอดจากการจมน้ำ  ไอเอ็มเอฟในหลายปีหลังไม่ค่อยมีงานทำ ยังโชคดีที่ทองคำขึ้นราคาและได้ขายทำกำไรบางส่วน พอให้บัญชีรับจ่ายไม่ติดลบ เมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งประกาศลดอัตรากำลัง 15% และอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของหลายๆ ฝ่ายว่าจะปรับบทบาทขององค์กรอย่างไรให้ยังคงมีความหมายต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลก
 ครั้งนี้ถ้าได้ไอซ์แลนด์มาเป็นลูกค้า ก็จะเป็นลูกค้าเกรดเอ และช่วยต่ออายุไปได้อีกหลายปี ไอซ์แลนด์จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศที่ 2 หลังจากอังกฤษมาขอใช้บริการเมื่อ 30 กว่าปีก่อน

               ความจริงประเทศที่มีปัญหาการเงินหนักกว่าไอซ์แลนด์ก็มี นั่นก็คือซิมบับเว แต่บังเอิญเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่มีปัญหาภายในเรื้อรัง ทำให้ไม่มีใครอยากจะข้องแวะ และถึงจะรับมาเป็นลูกค้า ก็เป็นได้แค่ลูกค้าขนาดเล็กที่มีศักยภาพต่ำ

               อีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของไอเอ็มเอฟ และอาจจะมีโอกาสตามไอซ์แลนด์มาคือ เอสโทเนีย แต่ถ้าไม่ได้ทั้งไอซ์แลนด์และเอสโทเนียเป็นลูกค้า ก็มีคนแนะนำให้ไอเอ็มเอฟขายทองคำที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วเอาเงินที่ได้แปลงร่างตนเองเป็นกองทุนความมั่งคั่งของโลก วิ่งไปหาโอกาสลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดกำไร และเพื่อความอยู่รอด

               สถาบันอีกประเภทหนึ่งที่หนีไม่พ้นต้องทบทวนบทบาทและการทำหน้าที่ของตนคือ พวกสถาบันจัดอันดับเครดิต ที่เคยให้เอ 3 ตัวและเอ 2 ตัวกับตราสารซับไพร์มและซีดีโอ ทำให้ผู้ลงทุนทั่วโลกเสียหายนับไม่ถ้วนเพราะหลงเชื่อ

               กรณีของไอซ์แลนด์ก็เช่นกัน เกือบทุกสถาบันให้เครดิตประเทศเป็นเอ 2 ตัว ทั้งๆ ที่ปัญหาเริ่มสะสมมาแล้วหลายปี น่าจะมีใครฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสถาบันเหล่านี้ให้เข็ดหลาบกันเสียบ้าง


                 

                                     กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

                 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                          ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California