สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                           Fourth of July 

                           วันประกาศอิสระภาพของอเมริกา                           

                                                                   ตอนที่ 5

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

 

   Fourth of July 

        อยู่ ๆ ก็มีพรจากสวรรค์ประทานมาให้  คือได้ข่าวดีสองข่าวสำหรับท่านจอร์จ ข่าวหนึ่งบอกว่าทหารอังกฤษได้ล่าถอยไปขุดสนามและสร้างป้อมที่แหลม York เมืองเวอร์จีเนียร์ ราว ๆ กลางเดือนสิงหาคม เป็นการชั่วคราว กันการบุกของทหารอเมริกัน ในระหว่างรอกองทัพเรือมารับไปทางทะเล

                  ส่วนข่าวดีอีกอีกข่าวหนึ่งมาจากนายพลฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เมืองขึ้น Rhode Island โรดไอสแลนด์ นายพลผู้นี้ที่ทางประเทศนั้นส่งมาช่วยตามสัญญา ชื่อ นายพล Count de Rochambeau โรแชมบู ข่าวนั้นบอกว่ากองทัพเรือทางใต้ซึ่งนำโดยนายพลเรือ de Grasse จะมีกองทัพเรือ 34 ลำ พร้อมปืนใหญ่เรือมากกว่าห้าร้อยลำกล้อง ปืนตั้งฐานทางบกแบบถล่มทลาย Field Gun อีก 7 กระบอก ทหารเรือสามพันคน เงินสดหนึ่งแสนปอนด์(สมัยก่อนหนึ่งเพนนีก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวผัดไทยได้สองจานแถมโอเลี้ยงหนึ่งถ้วยแล้ว) จะแล่นมาทางอเมริกาเหนือนี่จากทางอเมริกาใต้ ในต้นเดือนกันยายน เพราะเป็นช่วงลมจะไม่พัดแรง ถ้าเลยจาก วันที่ 15 ตุลาคม เรือจะต้องแล่นออกจากบริเวณนั้น เพราะจะมีพายุพัดมาทางใต้

                 ปืนใหญ่แบบถล่มทลายพวกนี้ จะเป็นกำลังยิงที่มหาสารพอจะถล่มทลายป้อมปราการขนาดไหนก็ได้อย่างสบาย นอกนี้เป็นโอกาสที่จะใช้กำลังปืนเรือให้ได้ประโยชน์ที่สุด กองทัพเรือกองนี้จะคอยกันทหารเรือจำนวนน้อยที่อยู่แถวน่านน้ำเข็คสปีคเบย์ที่จะแล่นมาช่วยพวกทหารอังกฤษ จงให้วางแผนโจมตีพวกเสื้อแดงให้ได้ทางบก โดยวางแผนทั้งทางบกและน่านน้ำ Joint Operation ขอให้พระเจ้าช่วย God Bless You (เขาไม่แน่ใจว่าเขาเขียนมาอย่างนั้นหรือเปล่า ผมก็ช่วยเติมให้สวยเพื่อความสมบูรณ์แบบขบวนการทูต)

       เมื่อนายพลวอชิงตันได้รับข่าวดังกล่าว ก็ตอบไปว่า ขอให้ทหารฝรั่งเศสอีก 7 พันคนที่อยู่ทางโรดไอสแลนด์ยกทัพลงมาสมทบ แถว ๆ วอชิงตัน ดีซี หน้าทำเนียบขาวและ Smithsonion Museum แล้วจะได้ลงเรือไปทางปากอ่าวด้วยกัน นอกนี้ก็ยังมีนายทหารหนุ่ม Marquis de Lafayette (ดูรูป)  ที่ชอบเรื่องของการผจญภัยและมีจิตบูชาฮีโร่อย่างนายพลวอชิงตันอย่างยิ่ง (นายทหารผู้นี้ตอนกลับไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส ได้เป็นแกนนำของการปฏิวัติฝรั่งเศสคนหนึ่ง) ทหารฝรั่งเศสเหล่านี้อยู่ในอเมริกาตั้งเกือบปีกว่าแล้ว เป็นกองทหารที่คอยประสานเอาอาวุธและยุทโธปกรณ์ลักลอบขนเข้ามาให้ทหารอเมริกัน ทางเรือ กองทัพฝรั่งเศสนี้เขารอจังหวะอยู่ เพื่อประสานการรบกับกองทัพของวอชิงตัน เพื่อบุกเกาะนิวยอร์ค แต่ รู้ ๆ อยู่ว่ารวมทหารทั้งสองประเทศจะไปโจมตีทหารเสื้อแดงเกือบสามหมื่นสี่พันคนที่ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองนิวยอร์คนั้นเป็นการฆ่าตัวตายเท่านั้นเอง ก็เลยรอ ๆ ไป ว่าง ๆ ก็ไปจับปลา ล่าสัตว์ตอนหน้าร้อน เล่นสกีแถวภูเขาแถบนั้นตอนหน้าหนาว  

                 การพูดถึงสงคราม ถ้าไม่พูดถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็คงไม่เข้าใจการรบสมัยก่อนเขาทำกันอย่างไร อาวุธที่สำคัญที่สุดในตอนนั้นก็คือปืนยาว และปืนใหญ่ ทหารม้าชักไม่ค่อยทำการได้ดีนัก เพราะมัวแต่ควบม้าเหยาะ ๆ เข้ามา ยังไม่ทันเห็นตัวก็โดนลูกปืนเสียแล้ว อาวุธปืนก็ต้องอาศัยดินปืน ดินปืนนั้นทำมาจาก ดินประสิว Saltpeter ถ่านและกำมะถัน สองอย่างหลังนั้นหาง่าย แต่ดินประสิวนั้นหายากทีเดียว เดิมทีต้องสกัดมาจากขี้วัวขี้ควาย ขี้นก--ขี้คนด้วย และหินูนตามกำแพงเก่า ๆ ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่สิ้นเปลือง และได้จำนวนน้อยมาก โชคดีตอนนั้นทางประเทศฝรั่งเศสได้นักเคมีที่สำคัญของโลกที่ชื่อว่า Lavoisier ลาวัวซีร์ ซึ่งค้นพบวิธีผลิตดินประสิว หรือ โปตัสเซี่ยม ไนเตรท (ทางอังกฤษยังไม่รู้วิธีทำดินปืนแบบใหม่นี้) เมื่อลาวัวซีร์สามารถทำจากกรรมวิธีทางเคมีได้ก็ผลิตออกมาได้เร็วและมาก ก็นำมาช่วยทหารอเมริกันเป็นจำนวนมาก ดินปืนที่ใช้สำหรับอเมริกานี้ใช้สำหรับทหารราบเสียส่วนใหญ่ ดินปืนนี้จะบรรจุในซองกระดาษเหนียวกันชื้นกระสุนหนึ่งใช้หนึ่งห่อ ในซองนี้จะมีดินปืนผง มีสำลีอัดดินปืนให้แน่น และลูกกระสุนตะกั่วหนึ่งลูกด้วย ทหารราบสมัยนั้นจะมีปืนยาว Musket ประจำตัวทุกคน เวลาบรรจุกระสุนก็ต้องเทดินปืนลงในลำกล้องก่อน แล้วเอาสำลีอุด แล้วตามด้วยเม็ดกระสุน แล้วเอาเหล็กยาว rod กระทุ้งทั้งลูกกระสุน สำลีแผ่นดันให้ดินปืนไปอุดแน่นที่ก้นลำกล้อง ที่ก้นลำกล้องจะมีรูน้อย ๆ เปิดอยู่ ติดต่อกับดินปืนที่อัดเข้ามา สมัยแรก ๆ  รูนี้เขาจะเอาสายกระดาษห่อดินปืนทำเป็นสายชนวนเสียบคาอยู่  เวลาจะยิงก็จุดไฟที่สายชนวนนี้แล้วก็จ้องที่เป้า เมื่อดินปืนระเบิดก็ได้หนึ่งนัด ยิงทีหนึ่งก็หน้าดำไปครั้งหนึ่ง เผลอ ๆ หนวดเคราติดไฟไปด้วย แบบนี้เรียกว่า Matchlock  (Match- จุดไม้ขีด) ทั้งนี้หมายความว่าทุกคนจะต้องพกชุดไฟด้วย ไว้ทำไฟยิงปืน หรือไม่ก็มีคนคอยจุดสายชนวนให้ ทุลักทุเลดี

                   เมื่อก่อนหน้าเกินสามร้อยกว่าปีโน้น เมื่อปืนสมัยนั้นยังเป็นแบบ matchlock เขาใช้ไฟจ่อที่สายชนวน Fuse ตรงก้นลำกล้องแถวใกล้ ๆ หน้าคนยิง ไม่มีไกให้เหนี่ยว ปืนนี้จะต้องตั้งพาดอยู่บนหลักไม้ค้ำบนดิน ไม่ได้ประทับไหล่หรอกครับ พอจุดไฟเสร็จ ก็ต้องจับให้ปลายลำกล้องอยู่กับที่และส่องไปที่จุดหมายรอให้ดินปืนมันระเบิด กระสุนจะถูกไม่ถูกเป้าก็ช่างมัน ถ้าสายชนวนด้านก็ต้องจุดใหม่ แถมด่าพ่อแม่เป็นภาษาฝรั่งมันไปด้วย ถ้าระเบิดยิงออกไปได้ก็ดีใจ  มันจะแม่นได้ยังไง ในเมื่อปากกระบอกปืนมันบานเหมือนแตรวงอย่างนั้น มันก็ยิงออกไป แต่ไปทางไหนไม่สนใจ แล้วก็มาเติมกระสุนใหม่

                   ส่วนปืนประทับไหล่แล้วเหนี่ยวไก แบบหิน เพิ่งจะมีราว ๆ สามร้อยปีนี่เอง ต่อมาเขาเลยเอาหินไฟที่ต้องมากระทบเพื่อเผาฉนวน มาติดอยู่ที่เหนือลำปืนเลย แถวรูเสียบสายชนวน หินไฟ Flint นี้ตอกติดแน่นไว้กับตัวเหล็กสับ มีสปริงติดกับไกปืน เวลาง้างเหล็กสับ มันจะไปทำให้ติดล๊อกไว้กับไกปืน เมื่อปล่อยไกปืน หรือเหนี่ยวไก เหล็กสับที่มีหินชนวนก็จะไปสับเข้ากับเหล็กชุดที่ขอบจานดินปืนด้วยแรงสปริง เมื่อเกิดประกายไฟขึ้น ทำให้ดินปืนที่เทไว้ในหลุมใส่ดินปืนที่ปากรูไหม้แล้วก็ไประเบิดดินปืนในลำกล้อง แบบนี้ก็สบายขึ้น ประทับปืนบนไหล่ยิงได้เลย ถ้าทุกอย่างบรรจุเรียบร้อยแล้ว แถมที่ปากหลุมลองดินระเบิดมีแผ่นเหล็กปิดไว้กันน้ำ และกันมันหกออกมา  เวลาจะยิงก็ผลักแผ่นเหล็กปิดนั้นออก แล้วก็ง้างไก แบบนี้เรียกว่า Flintlock Musket (ดูรูป แต่รูปนี้มันเป็นแบบปืนสั้น) ปืนแบบนี้ถึงประทับไหล่ยิงได้ ด้วยวิธีนี้ปืนสั้นก็เลยเกิดขึ้นตามมาด้วย

                   เห็นหรือยังขนาดเรื่องปืนก็ยุ่งน่าดู แล้วทหารเล่าครับ ยิ่งยุ่งใหญ่  เวลาสมัครเป็นทหารราบเขาจะตรวจดูว่ามีฟันหรือเปล่า เพราะฟันนี้เขาจำต้องมีไว้สำหรับฉีกห่อดินปืนและกระสุน สองมือจะได้ทำอย่างคล่องแคล้ว ไม่จำเป็นต้องวางปืนลง เพื่อใช้มือสองข้างฉีกซอง นอกจากปืนแล้วทุกคนจะมีดาบคาดเอวไว้ เพราะยิงไปทีหนึ่งแล้ว เขาไม่ตายหรือบาดเจ็บ แล้วศัตรูเข้ามาใกล้ตัว จะได้ทิ้งปืนแล้วใช้ดาบสู้กันสักตั้ง เนื่องจากปืนถูกทิ้งบ่อย ๆ เพื่อชักดาบฟันกัน ตอนประจัญบานกัน ก็มีนายอะไรคนหนึ่งคิดว่าน่าจะเอาดาบมาติดปลายปืน ก็เลยได้ดาบปลายปืน Bayonet ไม่ต้องทิ้งปืนแล้วหยิบดาบมาสู้กัน อย่างนี้ไม่ต้องพกดาบให้มันเกะกะ เมื่อทางอเมริกาได้ดินปืนมามากจากฝรั่งเศส ก็มีโอกาสเอาทหารเสื้อแดงมาซ้อมยิงเป้าเล่นได้บ่อยครั้งเข้า ทำให้แม่นปืนมากขึ้น แม้จำนวนทหารมีน้อย แต่จำนวนกระสุนมีมากกว่า ครั้งสุดท้ายก็ที่ แครอไลน่าทางเหนือ แม้ทหารจะน้อยกว่าแต่ก็ต้อนเอาเสื้อแดงต้องไปตั้งป้อมที่ยอร์คเทาน์ เพราะเสียทหารเสื้อแดงไปมากด้วยกระสุนที่ระดมมาทุกด้านติด ๆ กัน เป็นเวลาสองชั่วโมง ปืนที่สำคัญอีกอย่างก็คือปืนใหญ่ กรรมวิธีบรรจุกระสุนก็เหมือนกันแหละ แต่ดินปืนมาเป็นห่อขนาดหมอนใบเล็ก กระสุนก็ต้องแบกกัน เวลายิงก็ใช้แบบจุดสายชนวน ไม่มีไกจะเหนี่ยวกัน ปืนใหญ่ก็มาแบบต่าง ๆ กัน ตั้งแต่เล็กลากได้ด้วยม้า กลาง ๆ แบบประจำเรือ ใหญ่ก็แบบถล่มทลายป้อม

                   ขอฝอยนอกเรื่องนิดเดียว นายลาวัวซีร์นี้เป็นนักวิทยาศาสตร์เคมีที่สำคัญมากคนหนึ่งของโลก และเป็นคนค้นพบว่าในอากาศ ตัวสำคัญที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ก็ด้วยอ๊อกซีเจ้น และเป็นตัวประกอบในสารต่าง ๆ  มากมาย ด้วยเคยทำงานให้หลุยส์ที่ 16ตอนปฏิวัติฝรั่งเศสก็เลยถูกจับแล้วเอาไปตัดคอด้วยเครื่องกิลโลตีน เป็นที่น่าเสียใจของชาวโลกที่ต้องสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง         

                   กลับมาเรื่องเมืองยอร์คเทาน์ในรัฐเวอร์จีเนียกันใหม่ เมื่อนายพลวอชิงตันได้ข่าวดีถึงสองอย่างคือสามารถต้อนทหารอังกฤษไปตั้งค่ายติดที่ทะเล แล้วยังมีกองทัพเรือมีปืนใหญ่ถึงห้าร้อยกระบอกจากทางฝรั่งเศสมาสนับสนุนอีกด้วย เลยระดมพลทั้งหมดจากทางเหนือ ขอทหารของฝรั่งเศสทั้งหมด รวม ๆ ก็ได้ร่วมสองหมื่นกว่าคน ไปตั้งค่ายสำหรับบุกป้อมค่ายของอังกฤษทั้งทางตะวันตกและทางใต้ ไม่ให้มีทางออก ส่วนด้านติดทะเล ก็มีทหารเรือฝรั่งเศสมาปิดกั้นทางทะเลเสียอีก เมื่อจัดวางแผนเรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งปืนใหญ่ระดมยิงเข้าในป้อมไม่ให้มีเวลาเข้าห้องส้วมกันละ เพราะว่าห้องส้วมก็ถูกระเบิดพังไปแล้วก็ต้องเอากันกลางสนามนั่นแหละสะดวกดี นอกนี้ก็มีทั้งปืนเรือทั้งห้าร้อยกระบอก ไม่ให้เห็นเดือนเห็นตะวันกันเลย คือเห็นแต่ควันปืนเท่านั้น

 

            กลับไป ตอนที่ 4                                                                                     อ่านต่อ ตอนที่ 6          

          

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California