สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                           Fourth of July 

                           วันประกาศอิสระภาพของอเมริกา                           

                                                                   ตอนที่ 6

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

July 4th

           ส่วนทหารราบก็ช่วยกันขุดสนามเพาะตอนกลางคืน ให้มันใกล้ติดป้อมเข้าไปให้มากที่สุด ไม่ให้ทหารในออก ทหารนอกเข้า คือเท่ากับตัดการลำเลียงอาหารและน้ำและอาวุธ อาหารของพวกอังกฤษมีอยู่แค่สองอาทิตย์ นี่ล้อมมาเกือบเดือนแล้ว จำเป็นที่ทหารอังกฤษจะต้องฆ่าม้ามากินกัน เพราะอาหารหมด นอกนี้ทาสคนดำที่ติดตามกองทัพมาตลอด เพื่อหวังว่าเมื่ออังกฤษปราบกบฎได้ พวกทาสก็จะถูกปล่อยเป็นไท แต่ตอนนี้ทหารอังกฤษเองก็ยังไม่มีอาหารพอจะกินกัน จะฆ่าคุณดำมากินแบบคนป่าแถวเกาะบอร์เนียวก็ยังไม่กล้าทำ

           พวกทหารดำถูกไล่ให้ออกจากค่ายทั้งหมด ฝ่ายทหารอเมริกันที่เฝ้าอยู่ในสนามเพาะ พอเห็นคนออกจากค่ายมาก็ยิงทันที เพราะเป็นกลางคืน แม้ผิวดำจะกลืนกินกับความมืด แต่ลูกปืนย่อมไม่มีการแบ่งผิวด้วยแสงจันทร์ สงสารทหารดำถูกยิงตายเกือบหมด ในค่ายทหารก็ยังมีทหารอังกฤษอยู่เกือบ 9 พันคน เมื่อถูกล้อมมาเกือบสองเดือน แม้แต่กระดูกม้าก็ยังเอามาอมแก้หิว อานม้าตัดออกมาต้มให้เปื่อยก็เท่ากับกินเอ็นตุ๋นไปหนึ่งมื้อ แถมในค่ายก็เกิดโรคระบาดท้องเสียกันมากมาย จวนเจียนที่พลทหารจะก่อกบฎเพราะทนหิวไม่ไหวแล้ว

          ตอนรุ่งเช้าวันที่ 19 ตุลาคม 1781 นายพลวอชิงตั้นตื่นขึ้นมาไม่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ก็ให้แปลกใจ สั่งทหารรับใช้ไปสืบดูซี้ว่าเกิดอะไรขึ้น พลทหารวิ่งกลับมาว่า มีนายทหารอังกฤษยกธงขาวเดินออกมาจากประตูค่ายพร้อมกับพลทหารสองสามคน ทหารปืนใหญ่เลยหยุดยิง เมื่อนายพลวอชิงตันได้ต้อนรับนายทหารอังกฤษที่ขอมายอมแพ้ นายพลวอชิงตันไม่ขอรับเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น คือจับเป็นเชลยหมดทุกคน แล้วส่งท้ายว่าถ้ายอมแพ้วันนี้กันทุกคน จะได้กินข้าวขาหมูและไข่พะโล้กันให้อิ่มทุกคน ถ้าเลยวันนี้ไปก็อาจไม่แน่ (แสดงนายจอร์จของเราเป็นพ่อค้าหมูมาก่อน เมื่อนายทหารกลับไปรายงานแล้ว ค่ายประตูก็เปิดออก ทหารอังกฤษก็เดินเรียงสองออกมาพร้อมปืน (ห้ามเดินหน้ากระดานเด็ดขาด) พร้อมกับบรรเลงเพลง  The world turn'ed upside down ส่วนทางอเมริกานั้นก็ต้อนรับด้วยเพลง Yankee doodle comes to town นั่นแหละ เพราะนึกเพลงอื่นไม่ออก จำนวนทหารที่ยอมแพ้ทั้งหมดมี 7000 คน คงเสียชีวิตไปมากระหว่างถูกปิดล้อม และทหารดำอีกจำนวนมาก

          นี่ไม่ใช่การรบครั้งสุดท้าย แต่นับว่าสำคัญที่สุด ที่ทำให้ King George 3rd อังกฤษต้องตัดสินใจหยุดสงครามและยอมปล่อยให้อเมริกาเป็นประเทศอิสระ ในปี 1783 เพราะรัฐบาลของ Lord Frederick North ต้องลาออก (ก็อ้ายคนที่มีไร่ใบชาอยู่ทาง East Indies แล้วบังคับให้คนอเมริกาที่ชอบดื่มน้ำชาต้องเสียภาษี เลยเป็นเหตุให้เกิดการปฏิวัติขึ้น เห็นหรือยัง เมื่อการค้าส่วนตัวเข้าเกี่ยวข้องกับประเทศด้วย การตัดสินใจเพื่อความร่ำรวยของตัวเท่านั้น ก็นำพาให้ประเทศชิบหาย นี่เป็นเพียงตัวอย่าง)  

          เนื่องจากติดหนี้เกือบ 40 ล้านปอนด์ การค้าตกต่ำ คนตกงานมากมาย ด้วยไม่มีวัตถุดิบและอาหารจากอเมริกามาหล่อเลี้ยงโรงงานและปากท้อง เมื่อรัฐบาลใหม่ขึ้นมาก็พยายามไกล่เกลี่ยให้หยุดสงคราม โดยให้รัฐอเมริกาต่าง ๆ เป็นรัฐอิสระทั้งหมด แถมยกนิวยอร์คให้ฟรี ๆ อีกด้วย

          การต่อสู้ของเมืองขึ้นทั้งสิบสองรวมเวลาเกือบ 8 ปีจนได้เป็น สิบสามรัฐ เพราะรัฐนิวยอร์คไม่ได้ร่วมรบด้วย แต่อังกฤษยกให้ฟรี ๆ เลยได้เป็นสิบสามรัฐอิสระ

ผมเขียนเรื่องนี้ ก็คิดว่ามันจบไปแล้ว หลังจากการรบที่ได้ชัยชนะที่ Yorktown แต่มีคนมาถามผมว่าแล้วทำไมยังไม่ได้เป็น United States of America กับเขาสักที ผมเลยต้องมาเขียนต่อให้สิบสามรัฐให้เป็น USA สักทีอย่าลืมว่าอังกฤษยังมีกองทัพทั้งเรือและราบอยู่ครบชุด พร้อมจะต่อสู้กับอเมริกาอีกตั้งใหญ่ ๆ ซึ่งอาจจะกลับกลายเป็นชนะไปได้

เป็นเรื่องการเมืองครับ เพราะทหารอังกฤษยังถูกจับเป็นเชลยอยู่มาก รบอยู่ตั้งแปดปี หมดเงินก้นถังไปเสียมากมาย ชาวบ้านอังกฤษที่มีลูกหลานเป็นทหารอยู่ทางทวีปนี้ก็ได้เดินขบวนแถวไฮด์ปาร์คและหน้าหอนาฬิกาบิ๊กเบนให้หยุดรบกันสักที รบมาเกือบแปดปีแล้ว มีแต่แพ้และทหารตายกันมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งไม่ได้ตายจากการรบและครับ แต่ตายจากโรคติดต่อ เช่นโรคป่า โรคท้องเดิน โรคฝีดาษ  เพราะโดนทหารอเมริกันหลอกให้ต้องไปเดินป่ากันเล่น แล้วก็แอบยิงจากหลังต้นไม้ ซึ่งแบบนี้นายทหารอังกฤษไม่เคยเรียนมาจากเวสต์พ้อยต์มาก่อน(ขอโทษ ผมหมายถึง แซนด์เฮิรสต์ Sandhurst ครับ)

การรบสมัยนั้น เขารบแบบผู้ดี ใครแน่ใครอยู่ โดยจัดทหารราบมาเรียงแถวเป็นหน้ากระดานเป็นสองแถว แล้วก็เดินเข้าหาศัตรู ต้องฟังจังหวะกลองไปด้วย เสียงกลองตีหนึ่งที ก้าวหนึ่งก้าว จะมาตีกลองแบบเต้นสิงห์โตตรูษจีนไม่ได้ ดังนั้นจะเคลื่อนแถวเข้าหากันเป็นแนวยาวหน้าตรง ซึ่งสามารถวัดโดยไม้บรรทัดได้ว่ามันตรงจริง ๆ ถ้านายทหารเห็นว่าไม่ตรงก็ให้ขยับก้าวให้ทันกันใหม่ พอได้ระยะกระสุนปืน (เขาวัดได้โดยมองที่กระดุมเสื้อว่าชัดเมื่อไรก็เป็นระยะยิง) ก็ยกปืนเล็ง ต้องกะให้เก้าสิบองศาจากแถว คือคนนี้อั๊วจัดการเอง เพราะวัดแล้วมันเป็นเส้นตรงพอดี ลื้อห้ามยิง พอนายทหารบอกว่ายิงก็เหนี่ยวไก ยิงถูกหรือผิดก็ต้องย่อเข่าลง ทหารที่อยู่แถวข้างหลังก็ขยับมาอยู่แถวหน้า แล้วก็ยิง ตัวเองก็ต้องรีบฉีกห่อกระสุนใส่กระบอกปืน แล้วรีบเอาเหล็กที่แนบมากับปืนกระทุ้งให้กระสุนเข้าลำกล้อง เมื่อเรียบร้อย ก็ยืนขึ้นมาแทนทหารที่เขาเพิ่งยิงปืนไปแล้ว ย่อเข่ามาบรรจุกระสุนกันต่อ ตัวเองก็มองหาทหารฝ่ายตรงข้ามว่าเขาตายหรือยัง ครานี้จะได้ยิงซ้ำให้ตายคาที่ ยิงกันอย่างนี้แหละ ถ้าทหารฝ่ายตนแม่นปืนทุกคน ฝ่ายตรงข้ามก็คงเหลือน้อยคนที่จะมายิงต่อสู้กัน แค่นี้ก็รู้แพ้รู้ชนะกันแล้ว ไม่นานเลย ฝ่ายแพ้ก็คงต้องหันหลัง เปิดแนบเลย ฝ่ายชนะก็วิ่งไล่ฆ่าด้วยดาบปลายปืน ทหารม้าที่ควบม้าเร็วกว่าก็ควบเข้าซ้ำเติมอีก บุกไปถึงตัวแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามยิ่งเร็วยิ่งดี แค่นี้ก็จบ

ในช่วงนี้ก็มีการคิดปืนยาวที่ใส่กระสูนและดินปืนที่ตอนต้นของลำกล้องปืน เลยทำให้การบันจุกระสุนง่ายเข้า ไม่ต้องใช้เหล็กแยงลำกล้องอีกต่อไป แต่มันก็ช้าไปเสียแล้วในการสู้รบตอนนั้น แต่ก็มาใช้ในตอนปฏิวัติในฝรั่งเศส

มาเจออเมริกัน มันไม่รบแบบผู้ดี เพราะพวกนี้ไม่เคยเรียนการรบแบบนี้มาก่อน เอาแต่หลบ ๆ ซ่อน ๆ เด็ดชีวิตอ้ายเสื้อแดงกันไปมากมายทีเดียว เขาเลยหาว่าพวกอเมริกันมันป่าเถื่อน ไม่มีกติกา สมัยนี้เรียกว่ารบแบบกองโจร Guerrilla Warfare แปลว่ากองทัพเล็ก ๆ ต่างแยกกันไป ไม่ขึ้นกับกองทัพใหญ่

 มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ประเทศ หรือ จะเรียกว่า สหรัฐต่าง ๆ ของอเมริกาซึ่งมีพลเมืองไม่มากนัก เงินทองก็มีนิดหน่อย อาวุธก็ไม่พอเพียง ทหารก็ไม่ใช่แบบอาชีพ พลเมืองต่างรัฐต่างอยู่กัน ไม่ค่อยจะลงรอยกันเลย ต่างระแวงสงสัยซึ่งกันและกันแต่มีเนื้อที่กว้างขวางมาก สามารถทำให้ประเทศที่ใหญ่ขนาดเรียกว่าจักรวรรดิ ที่ไม่เห็นพระอาทิตย์ตกดินของ British Empire ต้องขอเจรจาหย่าศึกได้ เล่นเอาพระเจ้าจอร์จที่สามที่มีโรคประจำตัวที่เกิดจากเลือดผิดปรกติชนิดหนึ่ง เรียกว่า Acute Intermittent Porphyria  ตามที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว ถึงความบ้า ๆ บอ ๆ ของเขาเป็นช่วง ๆ แต่ตอนนี้อาการเกิดหาย แทนที่จะบ้า เลยกลายเป็นความโมโหที่แพ้สงครามกับกลุ่มคนป่า แล้วเศรษฐกิจของประเทศก็พังยับเยินไป เนื่องจากอังกฤษต้องการสินค้าจากอเมริกาเพื่อนำไปป้อนโรงงาน และต้องการค้าขายกับอเมริกาอีก เลยต้องขอเซ็นสัญญาในปี คศ. 1783 ที่กรุงปารีส คือสองปีต่อจากแพ้การรบที่ยอร์คเทาน์ รัฐเวอร์จีเนีย ในสัญญานี่เขายกรัฐนิวยอร์คให้ ให้มีสิทธิ์จับปลาที่นอกฝั่ง คานาดาแถวเกาะโนวาสโกเชีย ให้ชาวอเมริกาขยายดินแดนจนถึงด้านขวาของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ (ทางด้านซ้ายเป็นของเสปญ แล้วตกเป็นของฝรั่งตอนหลัง แล้วก็มาขายให้อเมริกาตอนสมัยนโปเลียน)

เมื่อสัญญาสันติภาพเซ็นเรียบร้อยแล้วสักสามอาทิตย์(เพราะเรือมันแล่นช้า กว่าข่าวจะมาถึงอเมริกา) นายพลจอร์จ วอชิงตันก็ยื่นดาบ ตำแหน่งทางการทหารทั้งหมดคืนให้สภาคองเกร็สหมด และบอกว่าต่อไปเขาก็จะไปทำไร่ของเขาต่อ เพราะไม่มีใครดูแล ขออยู่อย่างชาวไร่อย่างนี้จนวันตาย และจะไม่ขออะไรจากคองเกรส เหรียญก็ไม่เอา ไม่เคยมีใครคิดว่าบุคคลที่ทำงานอย่างใหญ่หลวงขนาดก่อตั้งชาติขึ้นมาขนาดนี้ จะไม่ติดอยู่กับยศ อำนาจ ทรัพย์สิน คำสรรเสริญใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อสงครามเลิก ทหารต่างก็กลับบ้านเกิดรัฐของตัวเอง แต่เนื่องจากได้ใช้ชีวิตอยู่ในกองทัพเสียตั้งนาน เกือบแปดปี ไร่นาก็ถูกทิ้งว่างเปล่า ลูกเมียก็ทำเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ไม่พอใช้ ก็ต้องกู้หนี้ยืมสินจากเจ้าหนี้รายใหญ่ เมื่อกลับจากสงครามแล้วก็ยังทำงานไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเสียอีก เจ้าหนี้ก็จะมาทวงหนี้ ทหารเก่า พลเมืองที่ต้องยากจนเพราะสงครามต่างก็ไม่มีอะไรจะให้ยึด เพราะเศรษฐกิจมันย่ำแย่ เพราะไม่ได้ค้าขายสินค้าไปต่างประเทศเสียเกือบเจ็ดแปดปี ราคาที่ดินไร่นาก็ตกต่ำมาก เจ้าหนี้ก็จะขอจับเข้าตะราง กับคนที่ติดหนี้แล้วไม่ใช้ (ตามกฎหมายของอังกฤษ) ชาวบ้านและทหารเก่าก็จับปืนขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จนเกือบจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง โดยมีผู้นำที่เคยเป็นกัปตันในกองทัพที่ออกจากราชการ เพราะสงครามเลิกแล้ว เขาชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เลยเรียกว่า Shey Rebellion เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเกือบทุกรัฐ รัฐบาลของแต่ละรัฐเมื่อถูกพลเมืองที่จนกว่าแต่มีคนจนจำนวนมากกว่าบีบให้ออกกฏหมายใหม่ เลยต้องผ่านกฎหมายออกมาให้อภัยโทษยกเลิกหนี้สินที่ติดไว้ระหว่างสงคราม หรือให้ผ่อนคลายให้เบาบางที่สุด นี่คือกฎหมายที่ออกโดยแรงบีบคั้นของกฎหมู่ครั้งแรกให้อเมริกา Civil Discontent

          เมื่อรัฐต่าง ๆ ปกครองกันเอง เลยมีเกือบสิบสามรัฐบาล ต่างก็ใช้เงินตราที่รัฐตัวเองถนัด เช่นเงินปอนด์ของอังกฤษอยู่ บางรัฐทางใต้ก็อาจใช้เงินของสเปน บางรัฐก็พิมพ์หรือทำเหรียญขึ้นมาใช้เอง  ต่างก็มีการเก็บภาษีของรัฐตัวเอง กีดกันของมาจากรัฐอื่น เล่นเก็บภาษีขาเข้าแพง ๆ เช่นพลเมืองหิ้วไข่จากรัฐแมรี่แลนด์เข้าไปในเพนซิลเวเนียก็ถูกเก็บภาษี แม้จะไม่ได้เอาไปขาย เพียงแต่ไปเยี่ยมญาติที่ติดกับชายแดนเท่านั้น

          เรื่องของการติดต่อต่างประเทศ เพื่อการทูต ค้าขาย เซ็นสัญญากัน การทหารก็ต่างรัฐต่างทำ รัฐบาลทางยุโรปก็ต้องมีทูตไปอเมริกาถึงสิบสามทูต ทำสัญญาทางค้าขายก็ต้องมีเงินถึงสิบกว่าอย่างตามแต่รัฐนั้น ๆ กำหนด

          เนื่องจากแต่ละรัฐมีพลเมือง ทหาร ทรัพย์สินจำกัด เวลาถูกประเทศใหญ่ข่มขู่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เช่นรัฐทางใต้มักจะโดนประเทศสเปนข่มขู่เอา เพราะต้องใช้ท่าเรือที่นิวออร์ลินสำหรับส่งสินค้าขาออก ก็โดนสเปนเล่นภาษีเสียหลายอย่าง ก็เลยไม่ใช้ท่าเรือที่นิวออร์ลิน มาใช้ท่าเรือที่แถวสวานา จอร์เจีย ประเทศสเปนก็ส่งเรือมาปิดปากอ่าว บังคับให้ใช้แต่ท่าเรือของเขาเท่านั้น กลัวจะไปเปิดท่าเรือใหม่แข่งขันกับเขา นอกนี้ทหารอังกฤษก็ไม่ยอมถอนออจากเอเมริกาทั้ง ๆ ที่เซ็นสัญญาไว้แล้ว พูดมากก็เอาเรือรบมาแล่นยิงปืนใหญ่ขู่เล่นจะทำไม

ขืนเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐบาลกลาง ที่มีอำนาจต่อรองมาจากสิบสามรัฐรวมกัน อำนาจต่อรองมันก็อ่อนไม่มีความหมาย และอาจขัดแย้งกับรัฐอื่นได้ อย่างนี้ก็ต้องประชุมกันอีก อย่างน้อยก็ได้มานั่งต้าอ่วย กินหูปลาฉลามร้านซ้อ ซดน้ำชากันที่ฟีลาเดลเฟีย แล้วก็ลงมติว่าจะต้องมีรัฐกลางอย่างแหง ๆ เอาละใครอยากเป็นประธานาธิบดี ให้ยกมือขึ้น ต่างก็เงียบ มีอยู่คนเดียวที่ยกมือให้ตัวเอง คือนาย เบ๊ บรรหาร นายปากห้อย นายหน้าเหลี่ยม สมาชิกแต่ละคนก็ส่ายหน้ากัน พอดีวันนั้นท่าน จอร์จใหญ่ ไม่มาประชุมด้วย เลยไม่มีใครได้รับเลือก

เอ้า! งั้นให้เลื่อนประชุมออกไป แล้วเชิญ จอร์จมาเข้าร่วมด้วยอีกสองอาทิตย์หน้า ครานี้เปลี่ยนเอาร้านหูปลาฉลาม นาย เฮงเป็นไรไป OK น่ะ อย่าเบี้ยว

         อีกสองอาทิตย์ต่อมา เมื่อเริ่มประชุมกันใหม่ เรื่องก็ยังไม่ลงเอย เพราะต่างก็ได้แต่ร้องยี้กับคนที่ขอเสนอตัว โดยเฉพาะโหงวเฮ้งไม่ดี เช่นพวกคางห้อย พวกหน้าเหลี่ยม พวกคิ้วแบบโป๊วก่วย ของกรรมการคนหนึ่งของ ก.ก.ต. ชุดเดิมอีกนั่นแหละ พวกนี้ถ้าปกครองประเทศมีหวังเจ๊ง

นาย จ๊อร์จใหญ่นั่งฟังจนหลับแล้วหลับเล่า ก็ยืนขึ้นด้วยร่างกายสูงใหญ่สมกับเป็นนายทหารป่า แล้วก็พูดเสียงเรียบ ๆ ว่า พวกท่านจะให้ผมทำอะไรได้บ้าง นายห้อย หน้าเหลี่ยม คิ้วโป๊วก่วย ต่างเงียบไปหมด ในที่ประชุมก็เกิดเสียงซุบซิบกันใหญ่ แล้วต่างก็พูดพร้อมกันว่า จะให้ท่านเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ แล้วก็มีเสียง ฮูเล สามครั้งพร้อม ๆ กัน.ถ้าเป็นไทยก็ ไชโย สามครั้งเหมือนกัน แล้วก็จัดการจุดธูป จุดเทียนให้สาบานตัวเป็นประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน แล้วก็มีการถ่ายรูปเพื่อเอาไปลงในแบงค์หนึ่งดอลล่าร์

เรื่องการปฏิวัติก็ขอจบลงเพียงแค่นี้ คนที่สาบานตัวต้องร้องเพลง God Bless America.

          เรื่องของการสร้างชาติของอเมริกาที่ผมตั้งหน้าตั้งตาเขียนเสียยาว ก็เพื่อให้คนไทยที่เป็นซิติเซ่น หรือที่กำลังจะเป็นจะต้องรู้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากทีเดียว และเป็นสิ่งน่าภูมิใจมากที่สุดในโลก สิ่งที่ผมยังไม่ได้เขียนก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญของอเมริกาอันเกี่ยวกับสิทธิของคนอเมริกันและจริยธรรม ซึ่งเมืองไทยของเราตอนนี้มันไม่มีแล้วกับคำว่าสิทธิมนุษยชนและจริยธรรม แม้แต่ข่าวสารก็ยังไม่ให้รับรู้ ให้รู้แต่สิ่งที่เป็นเท็จเท่านั้น ถ้าคนไหนรู้ความจริงเขาก็เรียกว่าถูกหลอกหรือ โง่ เหมือนคนกรุงเทพทั่วไปยิ่งมีการศึกษายิ่งโง่ เพราะเชื่อแต่เรื่องที่อั๊วโกหกเมื่อเช้านี้ แม้องค์กษัตริย์ อั๊วยังทูลเท็จเลยอย่างที่นายทักษิณเขาว่า

                    การสร้างชาติอเมริกานั้น คนทุกชั้นตั้งแต่คนที่อยู่ในป่าเขา ชาวไร่ชาวนา คนรวยต่างก็ช่วยกันทุกคน เสี่ยงต่อชีวิตทุกนาที ถึงแม้จะมีข่าวสารน้อยเต็มที แต่เขาก็คิดเป็น และคิดได้อย่างถูกต้อง ไม่มีใครมาแจกเงินแจกทองเพื่อให้สู้หรือไป เชรียร์ ไม่มีผู้นำที่ออกอากาศพูดตอแหลทุกวันแล้วไม่รับผิดชอบเรื่องมดเท็จที่ตัวเองสร้างขึ้น ถ้าอยู่สมัยนั้นก็คงถูกแขวนคอไปแล้วทั้งโคตร ระหว่างการต่อสู้ตั้งเจ็ดแปดปี ต่างก็จนลงทุกคน ไม่มีใครมาตอแหลว่าถ้าชนะศึกแล้วจะรวย (หรือได้รับเลือกตั้งเป็นนายกแล้วจะมาแจกเงินให้อำเภอละ สองร้อยล้าน)

 

            กลับไป ตอนที่ 5                                                                               

          

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California