สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                           Osteoporosis 

                                                                   ตอนที่ 2

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

โรคกระดูกพรุน    

เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของกระดูกนี่ มันคงมาร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทุกส่วนของร่างกาย เรียกว่า Combination ละครับ โดยเฉพาะใบหน้านี้จะมีลักษณะเปลี่ยนไปตั้งแต่เด็ก กลายเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ แล้วก็มาลงเอยเมื่อเป็นคนแก่ ใบหน้าจะเปลี่ยนไปตลอด ก็ที่ชอบพูดกันเมื่อชมสาว ๆ ที่สวยขึ้นเมื่อโต ว่าเคยเป็นเป็ดขี้เหล่ แต่ตอนเป็นสาวทำไมหน้าตาถึงดีนัก นี่แหละครับ จากการเปลี่ยนแปลงของโครงกระดูกใบหน้า ด้วยมีการเปลี่ยนแปลงถึง 30-40% ทุกปี แล้วก็ลงเอยที่กรรมพันธุ์ของพ่อแม่ เขาเรียกว่า Gene จีน เป็นตัวชี้บังคับให้ออกเค้าตามนั้นแหละ ใบหน้าเป็นรูปไข่ หน้าผากโหนก แก้มยุ้ย คอระหง ฯลฯ ขายาวแขนยาวแบบฝรั่ง ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว รีบส่งเสริมให้ลูกสาวไปประกวดนางงามได้เลย ก็เมื่อคืนนี้ผมได้ไปดูการประกวดนางงามที่ในงานของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาจัดขึ้นที่แอลเอนางสาวที่เป็นนางงาม ช่างเป็นผลผลิตของGene ที่ออกมาสวยงามทุกอย่าง (ถ้าลูกสาวใครไม่ได้เป็นนางงามก็อย่าไปต่อว่ากรรมการเลย เขาเองยังต้องซื้อตั๋วเข้าไปดูการประกวดเลย แล้วเขาก็ทำตามกติกาทุกอย่างแล้ว)

พออายุมาก โครงสร้างของใบหน้าและของร่างกายส่วนต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปอีก จะออกทางกว้างคือเป็นรูปสี่เหลี่ยมมากขึ้น รูปร่างก็ออกมาทางขวางเสียมากกว่า คือว่าจะยาวหรือสูง ไม่มีโอกาสแล้ว ได้แต่เตี้ยลง(เพราะหมอนกระดูกระหว่างกระดูกสันหลังบนหดตัว จะเตี้ยลงอย่างน้อยนิ้วครึ่ง) ใบหน้าที่เปลี่ยนก็ เพราะหัวล้าน ปากเม้มเข้าหากัน เพราะฟันไม่มี หรือใส่ฟันปลอม ก็เลยดูเหมือนคางยื่น เพราะขากรรไกรล่างมาชิดเข้ากับขากรรไกรบน ขมาบแก้มก็กางออก รวมแล้วก็คือ ไม่หล่อหรือสวยเหมือนเดิม จากหน้ารูปไข่ มาเห็นหน้ากะทะ กลายเป็นหน้าบาน ว่าแล้วนั่นคือ โหงวเฮ้ง หรือราศีจะเปลี่ยนไปในทุกขั้นตอนของชีวิต รัก โศกทุกข์ งานการ โรคภัยไข้เจ็บ หมอดูถึงมีงานทำไปตลอดชีพไงเล่าครับ เพราะการเปลี่ยนแปลงของกระดูก นอกจากกระดูกจะเปลี่ยนแล้ว เนื้อเยื่อหรืออวัยวะอย่างอื่นก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่นความสุข ทุกข์ โศก งานหนัก ครอบครัว การตรากตรำต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า Surrounding Elements ผิวหนัง กล้ามเนื้อ ไขมัน ก็เปลี่ยนไปด้วย กระดูก ไขข้อ กล้ามเนื้อ ผิวหนังก็ต้องปรับตัวไปด้วย นั่นคือสิ่งแวดล้อมทำให้อวัยวะต้องเปลี่ยนไป เพื่อให้เหมาะสม หรือบังคับให้เหมาะสม อย่างทางอารมณ์ ถ้าเป็นคน อมทุกข์ ก็จะมีหน้านิ่วคิ้วขมวด เป็นรอยย่นที่ระหว่างคิ้วอย่างชัด ตีนกาก็ปรากฏมาก งานกรรมชีพ จะผิวกร้าน มือหนา กล้ามเนื้อโตขึ้น พออายุมากขึ้น ข้อกระดูกก็เสียเร็วขึ้นตามไปด้วย อยากรู้ว่าหน้าตัวเองเปลี่ยนแปลงไป ก็เอารูปเก่า ๆ ตอนเด็กหรือหนุ่มสาวมาเทียบกับรูปร่างหน้าตาตอนนี้ที่หน้ากระจกก็จะรู้เอง เรียนรู้โหงวเฮ้งของตัวเองไปด้วย จะได้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ควบคุมราศีของตัวไปด้วย อย่าให้ธรรมชาติมาควบคุมเรามากเกินไป

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะธรรมชาตินี้ มันเกิดจากความต้องการของสัตว์ทั้งหลาย เพียงแต่หนึ่งชั่วคนของเรา( Generation) ก็เปลี่ยนแปลงไปขนาดนี้ แล้วคิดดูว่ามนุษย์ที่พยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นจากลิง จนเป็นตัวเราที่เป็นมนุษย์ ต้องกินเวลายี่สิบล้านปี มันจะมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหน นั่นแหละครับเรียกว่าเกิด Evolution วิวัฒนาการ (เอฟโวลูชั่น) ซึ่งทฤษฏีนี้สังเกตุและบรรทึกไว้โดยนาย Charles Darwin (อ่านว่า ชาวส์ ดาร์วิน)ในหนังสือเรียกว่า Origin of the Species คงต้องแปลงว่าเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์ ในสมัยอยู่มนุษย์วานร ความต้องการที่สำคัญคือเพื่อหาอาหารเลี้ยงชีพ หรือหลีกหนีต่อการเป็นอาหารของสัตว์อื่น นั่นคือคนไหนที่แข็งแรงที่สุดย่อยมีโอกาสอยู่ยืน เรียกว่า Survival of the Fittest

สาเหตุของกระดูกพรุนนี้ ไม่ใช่จะเกิดจากประจำเดือนหมดอย่างเดียว อาจมีสาเหตุที่ส่งเสริมให้เป็นง่ายและมากขึ้น

             กรรมพันธุ์ คือพันธุ์ผู้หญิงผิวขาวและเอเซียจะเป็นมากกว่าพวกผิวดำกับพวกเชื้อเสปญ Hispanic ฮิสแปญนิค พวกพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ คือกระดูกหักง่ายกว่าคนอื่นในครอบครว คนที่มีโคลโมโซมผิดปรกติเรียกว่า เทอนเน่อร์ ซินโดรม Turner’s syndrome พวกนี้มีการขาดฮอร์โมนหญิงชนิดหนึ่ง

             Estrogen หดน้อยลง แต่อย่าน้อยใจผู้ชายก็เป็นเหมือนกัน เพราะเขาขาด ฮอโมนผู้ชาย Androgen

             พวกขาดอาหารตอนเด็ก ๆ หรือเด็กสาวที่ยอมอดอาหารจนเป็นโรคขาดอาหารที่เรียกว่า Anorexia Nervosa อะนอเร็กเซีย เนอโวซ่า

             พวกสูบบุหรี่จัด  พวกดื่มสุราจัด

             ยาจำพวกสเตียรอยด์ที่ต้องกินเป็นประจำทุกวัน เพื่อรักษาโรคไขข้อรูมาตอยด์ โรคไต โรคผิวหนังบางชนิดที่เรียกว่า ลูปัส Lupus ยาพวกที่กันเม็ดเลือดเกาะกรัง ชื่อว่า Heparin เฮปปาริน หรือคูมาดิน

            โรคลำไส้ที่ทำให้ไม่ดูดซึมพวกแคลเซี่ยม

            โรคหลาย ๆ อย่าง ที่ทำให้เป็นโรคกระดูกผุ ก็ โรคของต่อมฮอร์โมน จากพวกเป็นโรคไทรอยด์สูง หรือพวกต่อมพาราไทรอยด์ (ที่ติดอยู่กับต่อมไทรอยด์) สูง พวกนี้จะละลายแคลเซี่ยมออกจากกระดูกเร็ว โรคต่อมใต้สมอง โรคมะเร็งของเลือด เช่น Leukemia ลิวคีเมีย จากเม็ดเลือดขาว

             โรคขี้เกียจหลังยาว พวกนี้มักจะมีผิวขาว ซีด เนื้อนิ่ม เพราะไม่เคยออกกำลังกาย หรือตากแดดนอกสถานที่ กล้ามเนื้อเลยไม่ค่อยได้ออกกำลัง ดังนั้นกระดูกที่กล้ามเนื้อเกาะอยู่เลยไม่เจริญและแข็ง เพราะขาดการใช้งาน แต่คนพวกนี้จะมีกล้ามเนื้อที่ใช้พูดแข็งแรงมาก 

โรคกระดูกพรุนนี่ โดยมากคนไข้จะไม่มาหาด้วยโรคนี้กัน โดยมาก มาหาเพราะโรคกระดูกหัก โรคปวดหลังโดยเฉพาะแถวทรวงอก หรือหลังงอ แบบนายชูชกนั่นแหละ ที่เด็ก ๆ เขาร้องว่า ตาแก่อยากมีเมียสาว ถือไม้เท้ายักเย่ยักยัน หรือคนไข้ที่ขาดประจำเดือนแล้วชอบปวดตามข้อต่าง ๆ หรือจากการหาเจอจากเอ๊กซเรย์เพราะโรคอื่น ๆ เช่นปวดหลัง ถ้าเจอในเอ๊กซเรย์ก็แสดงว่ามีการขาดแคลเซี่ยมถึง 30-40 % แล้ว และมักจะมีกระดูกกดทับกันเองเสียแล้ว และคนไข้มักจะหลังโก่งด้วย

          การตรวจสอบด้วยการเจาะเลือดก็อาจจะเจอโรคอื่นเสียมากกว่าที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เช่นระดับแคลเซี่ยมสูงไป ก็เกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ หรือต่ำไปก็เกิดจากโรคระบบอาหารไม่ดูดซึมอาหาร การผิดปรกติของเลือดเพราะโรคตับ เป็นต้น

          ส่วนที่จะตรวจหาว่าเป็นโรคกระดูกพรุนนั้นก็ต้องด้วยการวัดด้วยเอ๊กซเรย์ เขาเรียกว่า Bone Density Measurement การวัดโบนเด๊นซีตี้ หรือความแน่นของกระดูก เขาจะวัดทั้งกระดูกแบบฟองน้ำที่สันหลัง กระดูกที่ข้อมือและนิ้วมือ แล้วไปเทียบกับคนธรรมดาที่อายุเท่า ๆ กัน 

รูป คนแก่ที่มีโรคกระดูกพรุน Osteoporosis

 

        กลับไป ตอนที่ 1                                                                                        อ่านต่อ ตอนที่ 3

 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2007 Chulalongkorn University Alumni Association of California