จุฬาฯ ของเรา

   

                                                                                  ชุมพล  ทรงเดช

คณะวิศวกรรมศาสตร์

                                                    

14  กุมภาพันธ์  2004 

 

            จุฬาฯ ของเราในที่นี้ไม่ได้ต่อด้วยงามเสลาสล้างอย่างในเนื้อเพลง  แต่ผมกำลังจะเล่าถึงเหตุการณ์และความ เปลี่ยนแปลงบาง อย่างภายในรั้วสีชมพูของเรา เพื่อเก็บไว้เป็นอนุสรณ์  เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมจุฬาฯ สิ่งหนึงที่เตะตาผมเที่ยวนี้คือ “ฮัลโหล ฮัลโหล ที่นี่ CU Hotline”  (เบอร์)  ไม่ว่าท่านจะมีปัญหาเรื่องความรัก อกหัก   การเรียน การสังคมกับเพื่อนฝูง  ท่านสามารถต่อสาย ด่วนขอรับคำปรึกษาได้ 24 ชั่วโมง  ก่อนจะคิดฆ่าตัวตาย  โดยจะเว้นอยู่เรื่องเดียวที่ไม่รับปรึกษา คือ เรื่องเงิน  โธ่เอ๋ย! ศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาช้าไป 30 ปี  ไม่เช่นนั้นผมคง ไม่ต้อง เสียเพื่อนรักไปถึง 2 คน โดยการยิงตัวตายทั้งคู่เพราะผิดหวังสาวอักษรฯ  ทำให้พวกเราขยาดสาวอักษรฯ อยู่เป็นนาน

            สมัยก่อนเคยมีอาจารย์บอกผมว่า ผู้หญิงจุฬาฯ เวลาเดินสวนกัน เขาจะมองกันที่รองเท้า ก่อนที่จะมองหน้า  ผมว่าน่าจะจริง  เพราะเคยไปนั่งสังเกตุดูเห็นแต่ละคนเวลาเดินผ่านกัน ตาชำเลืองมองต่ำ ก่อนที่จะตลบขึ้นสูงทุกที  บางคนมองต่ำแล้วเห็นเป็นรองเท้าชาร์ลส์ จูดองค์ หรืออะไรประมาณนั้น  ตายังงี้แตกประกายวาบเลย แต่ข้อ ที่อาจารย์บอกอีกว่าเห็นนิสิตจุฬาฯ เดินสวนมาคนหนึ่ง  She can tell ว่า นิสิตคนนี้อยู่คณะอะไร จากลีลาท่าทาง การเดิน  ผมยังสงสัยอยู่ สมัยก่อนอาจจะมีส่วนจริง อย่างวิศวะฯ นี่ ก็ท่าทางเดินออกจะกวนๆ ชาวบ้านหน่อย  พวกหมอนี่ก็ใส่แว่นดูขรึมๆ หน่อย  จ้อมากๆ หน่อยก็รัฐศาสตร์ สำอางหน่อยก็อักษรฯ  หุ่นเถ้าแก่เนี้ยหน่อยก็บัญชี  ตลกมองโลกในแง่ดีก็สถาปัตย์   ดุๆ หน่อยก็ครุฯ  ท่าทางขี้หลีหน่อยก็วิทยาศาสตร์  เหล่านี้เป็นต้น  แต่มาสมัยนี้ ผมว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป อย่างคณะวิศวะฯ ก็มีผู้หญิงเข้าไปเกือบครึ่งคณะ  ส่วนใหญ่เข้าไปเรียนคอมพิวเตอร์กัน   บางคนก็สำอางดูไม่จืด  พวกหมอนี่ก็ไม่ใช่ท่าทาง จะคงแก่เรียนอีก  แต่เป็นพวกคงแก่เชือดมากกว่า  เชือดหั่นศพ กันเก่งจริงๆ หมอสมัยนี้  ยิ่งอักษรฯ เจ้าเก่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่สำอางแต่เป็นบู๊แหลก ใครอย่าขวางแม่เชียว  ส่วนนิเทศ ศาสตร์สมัยก่อนเวลาเดินผ่านตึกคณะมักจะได้ยินเสียงครวญเพลงลอยลมจากดาดฟ้าลงมาให้เพลินใจเล่น  เช่น  ใต้ฟากฟ้าสุราลัย เหนือหัวใจปรารถนา.... หรือบางทีก็เห็น ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานบริษัทแกรมมี่คนปัจจุบัน เดินถือแฟ้มสีดำคู่กาย เที่ยวสั่งงานอยู่ในฐานะประธานเชียร์คณะ

            ตอนนี้ในจุฬาฯ คณะที่สวยและมีโรงอาหารที่สง่างามที่สุดคือ คณะอักษรศาสตร์  ในขณะที่คณะบัญชีฯ กลับดูร่วงโรยลงไป เพราะมีตึกร้างช่วงเศรษฐกิจทรุดเป็น back ground อยู่ด้านหลังตลอดแนวสามย่านเดิม  ตึกบรมราชกุมารีเป็นที่เชิดหน้าชูตาของคณะอักษรฯ  พอๆ กับตึกคอมพิวเตอร์ใหม่ของวิศวะฯ  และตึกเรียน ใหม่ของคณะวิทยาฯ  คิดแล้วผมยังโชคดีที่ผมยังได้ทัน เห็นตอนสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเรียนที่จุฬาฯ  ทุกเช้า ท่านจะเสด็จมาโดยรถ Desoto สีดำรุ่นเก่า ขัดเป็นเงามันแปลบ มีคนขับแต่งเครื่อง แบบสีขาว ขับเข้าประตูทางด้านสระน้ำ เข้ามาเพียงคันเดียว ไม่มีรถติดตาม  และจะประทับเรียนที่จุฬาฯ โดยไม่มีองครักษ์คอยเฝ้าฯ  ช่วงกลางวันท่านจะลงมาซื้อผรั่งดองรถเข็นเทียมมี่ซียู ที่มีเจ้าเดียวในจุฬาฯ  เจ้าของรถเข็น เป็นคนจีนที่หัดพูด ภาษาอังกฤษจากพวกนิสิต  เวลาจะขายที่คณะอักษรฯ ก็บอกวันนี้ฝรั่งสีเทา on discount พอตอนเข็นมาขายที่คณะวิศวะฯ ก็เรียกบรรดานิสิตว่า นายช่าง วันนี้ฝรั่งสีเลือดหมู on sale อยู่เรื่อยไป

            จุฬาฯ ในระยะก่อนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ เข้ามาเรียนนั้น  เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในหลายๆ ด้าน  ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516  เริ่มตั้งแต่เปลี่ยน แปลงการศึกษาเป็นระบบหน่วยกิต จากระบบวัดผลเดิม เป็นเปอร์เซนต์ที่วัดกันที่หกสิบเปอร์เซนต์ผ่าน  ซึ่งได้ทยอยเปลี่ยนไปตามคณะต่างๆ เกือบทุกคณะ  ช่วงนั้นผมจบ ม.ศ.5 ตอน พ.ศ. 2512  (รุ่นข้อสอบรั่ว)  และสอบเข้าคณะวิศวะฯ จุฬาฯ รุ่นเดียวกับธีรยุทธ บุญมี ซึ่งสอบได้ที่หนึ่งของประเทศในปีนั้น และเรียนอยู่ Group A กรุ๊ปเดียวกันสมัยปีหนึ่ง  บรรยากาศในจุฬาฯ ช่วงนั้นเรียกได้ว่าฟุ่มเฟือยสุดขีด  งานบอลล์เต้นรำตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสลับสับเปลี่ยนกัน ทุกอาทิตย์ ยังไม่นับถึงงาน Thank you Party  ความหรูหราฟุ่มเฟือยต่างๆ เหล่านี้ มารวมศูนย์กัน อยู่ที่งานฟุตบอลประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์  นอกเหนือจากตระเวนรอบเมืองช่วงเช้าแล้ว ยังมีขบวนพาเหรดช่วง บ่ายแต่งเป็นชุดขบวนทัพโรมัน ทั้งทัพม้า (มัาจริงๆ) และคนเดินเท้า  สาวงามเชิญตราสัญลักษณ์ของทั้งสอง มหาวิทยาลัยลงมาจากฟ้าด้วยเฮลิคอปเตอร์  ผมจำไม่ได้ว่าผล ของการแข่งขัน ฟุตบอลปีนั้นเป็นอย่างไร  แต่ที่แน่ๆ คือ ผลจากความสนุกมากในปีนั้น ทำให้นิสิตคณะ วิศวะฯ รีไทร์กันเกือบครึ่งคณะ  ตัวผมเองกว่า จะสอบผ่าน ได้วิ่งกันแทบตาย  ขอสารภาพว่าต้องใช้วิธีเก่าของชาวฟ้าที่ไปบนบานพระบรมรูป ทรงม้าขอวิ่งรอบ พระบรมรูปฯ วิชาละเก้ารอบ เพื่อให้สอบผ่าน ซึ่งรอบเล็กใกล้ๆ ชาน ก็กลัวท่านจะไม่โปรด ต้องเอารอบใหญ่ออกไปถึงจะได้ผล

            พอผ่านขึ้นปีที่สอง ทุกฝ่ายรณรงค์ให้มีการจัดงานโดยประหยัด  และมีการตรวจสอบตัวเองกันมากขี้น  เช้าวันหนี่ง ผมไปเรียนตามปรกติ เห็นป้ายใหญ่อันหนึ่งผุดขี้นหน้าจุฬาฯ  “จุฬาฯ ปราบคอร์รัปชั่น”  ข้างใน ที่ระเบียงหน้าหอประชุม ด้านหลังธงชาติ กำลังมีการซักฟอกผู้บริหารมหาวิทยาลัย  มีคำพูดดังขี้นว่า  “เบื้องหน้าคือธงไตรรงค์  เบื้องหลังคือพระบรมฉายาลักษณ์ของ ลันเกล้าทั้งสองพระองค์  อาจารย์สาบาน ได้ไหมว่าจะพูดความจริง”  ต่อมาหลังจากนั้นเป็นการเดินขบวนครั้งแรกในรอบสิบสามปี  นับตั้งแต่การเดิน ขบวนครั้งใหญ่ประท้วงการเลือกตั้งสกปรกในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงความ เมื่อปี 2500 แล้ว  ก็ไม่ปรากฏการ เดินขบวนใดๆ อีกเลยนับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ยิดอำนาจ  การเดินขบวนจากจุฬาฯ ไปทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้ รัฐบาลจอมพล ถนอม กิติขจร ขณะนั้นได้อำนวยความสะดวก โดยให้ตำรวจมาปิดกั้นถนนให้โดยตลอด เส้นทาง จนถึงทำเนียบ  เมื่อพวกเราไปถึงก็ได้สั่งอาหารและไอสกรีมมาเลี้ยง และจัดหารถบัสมารับกลับบัานหลังจากเสร็จ สิ้นการเจรจา

           จะว่าพวกเราได้ใจหลังจากการเดินขบวนครั้งแรกก็ใช่  เพราะต่อจากนั้นก็มีกิจการการเมืองอื่นๆ ตามมาอีก  บรรยากาศในจุฬาฯ เริ่มเปลี่ยนไป  ตอนเย็นๆ ในสนามหญ้าหน้าจุฬาฯ เริ่มได้ยินอะไรใหม่ๆ เช่น เพลงเพื่อชีวิต คนกับควาย เชกูวารา ฯลฯ  จนกระทั่งขึ้นปีสาม  จุฬาฯ เป็นหัวหอกนำประชาชนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นและรณ รงค์การใช้ผ้าดิบ  รัฐบาลญี่ปุ่นถึงกับสะท้าน ส่งคนมารับธีรยุทธ บุญมี และชาวคณะไปดูงานที่ญี่ปุ่นระยะหนึ่ง  จนกลับมา รายการต่อต้านก็ยังดำเนินต่อไป  ธีรยุทธ บุญมี สมัครเข้าแข่งขันเป็นนายก สโมสรนิสิตจุฬาฯ ในปีนั้น กับหมอกำจัดโสณ จุลสมัย (เสียชีวิตแล้ว)  ผลปรากฏว่าธีรยุทธแพ้การเลือกตั้ง  ธีรยุทธจับมือกับเพื่อนๆ ที่ริมสระน้ำหน้าจุฬาฯ ในคืนนับคะแนนเลือกตั้งที่ศาลาพระเกี้ยว ว่าเสียใจที่ทำให้เพื่อนๆ ทุกคนผิดหว้ง  ก่อนที่จะก้าวต่อไปด้วยการ สมัครเลือกตั้งลงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาไม่นานจากกลุ่มนิสิตจุฬาฯ  ภายใต้การนำของฉายศิลป์ เชี่ยวชาญพิพัฒน์  ในปีนี้มีเหตุการณ์ Queen Elizabeth and Duke of Edinberg แห่งอังกฤษ เสด็จเืยืิอนจุฬาฯ หลังจากที่ท่านได้ไปประทับที่ดอยปางตอง แม่ฮ่องสอนมาแล้ว  ซึ่งท่านได้ใช้เวลาเดินเล่นหลังน้ำชาตามธรรมเนียมอังกฤษ เดินจากหอประชุมจุฬาฯ ผ่านคณะอักษรฯ คณะวิศวะฯ สระว่ายน้ำที่สร้างใหม่ จนถึงศาลาพระเกี้ยว ยังความปลาบปลื้มให้แก่พสกชาวจุฬาฯ อย่างยิ่ง

            ขึ้นปีที่สี่ บรรยากาศในจุฬาฯ ขณะนั้น เริ่มร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ  จากบรรยากาศแห่งความสนุกสนานที่มีเสียง ร้องเพลงเชียร์ และความเป็นพี่น้อง เริ่มแปรเปลี่ยนไป  สโมสรนิสิตจุฬาฯ เปลี่ยนไปเป็นองค์การนิสิตจุฬาฯ  มีการ ตั้งพรรคและกลุ่มการเมือง ขึ้นในมหาวิทยาลัย  ตอนนั้นจุฬาฯ มีพรรคจามจุรี พรรคจุฬาฯ ประชาชน  กลุ่ม Sotus ใหม่ และอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม  จดหมายจากพรรค การเมืองระดับชาติ เข้ามาอยู่ในตู้จดหมายของนิสิตที่เกี่ยวข้องกับ กิจกรรมเกือบทุกอาทิตย์  บ้านนักการเมืองใหญ่ๆ อย่าง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นศูนย์รวมของนิสิต นักศึกษาจากทุกสถาบัน  เวลาเย็นๆ ที่ใต้ถุนบ้านทรงไทย ซอยสวนพลู จะมีที่นั่งม้าหินอยู่หลายชุด ตั้งสุรากับ แกล้มไว้พร้อม เตรียมต้อนรับอาคันตุกะรุ่นลูกจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งกินกันไปคุยกันไป  จนแขกผู้ใหญ่ข้าง บนเสร็จธุระกลับกันหมดแล้ว  ก็จะถึงเวลาที่พวกเราขึ้นไปคารวะท่านอาจารย์ตรงโต๊ะยาวบนเฉลียงเรือนไทย  หลังจากลูบหัวเจ้าสุนัขสามสีตัวโปรด และจิบบรั่นดีตามแบบฉบับของท่านแล้ว  ท่านก็จะไล่ถามพวกเราเป็นราย สถาบันว่ามีข่าวคราว อะไรกันบ้าง และให้คำแนะนำต่างๆ

            ไม่เพียงแต่บรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นในจุฬาฯ ความบันเทิงด้านต่างๆ เช่น การจัดละคร การโต้วาที ก็ร้อนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว มีการจัดละครเสียดสีการเมืองและสังคมขนาดหนัก  และการโต้วาทีซึ่ง สมัยก่อนหัวข้อ ที่มัีกนิยมก็มี เช่น เกิดเป็นหญิงดีกว่าชาย  หรือขุนช้างดีกว่าขุนแผน  แต่หัวข้อช่วงนั้นจะเปลี่ยนเป็น เช่น  “ควรพัฒนาการศึกษาก่อนเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นญัตติชิงชนะเลิศระหว่างมหาวิทยาลัย โดยมี เสาวณีย์ ลิมมานนท์ เป็นหัวหน้าทีมธรรมศาสตร์  และผมได้เป็นหัวหน้าทีมจุฬาฯ  โดยจุฬาฯ เป็นฝ่ายชนะเลิศในปีนั้น ด้วยคะแนนเอกฉันท์  จากความเป็นหญิงเหล็กที่มีหัวใจเต็มร้อย  เสาวณีย์ ลิมมานนท์ ผู้นี้คือวีรสตรีตัวจริงในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516  ท่ามกลางการนองเลือดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  ในขณะที่ฝ่ายจุฬาฯ มีธีรยุทธ บุญมี,  ประสาร มฤคพิทักษ์ และิอื่นๆ เป็นฝ่ายเปิดฉากเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จากรัฐบาลเผด็จการ จอมพล ถนอม กิติขจร ขึ้นมาก่อนจนกระทั่้งถูกจับขัง  และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำคลื่นฝูงชนเรือนแสน ออกเดินขบวนเป็นแรงหนุน  จนกระทั่งรัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้เรียกร้อง  แต่เหตุการณ์บานปลายเป็นวันมหาวิปโยค จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังที่ทราบกันอยู่

            เหตุการณ์พลิกผันมาถึงตอนนี้ ดอกจามจุรีกำลังร่วงหล่น  พวกเราก้าวเดินกลับไปตามทางเดิม ใต้ร่มจามจุรีที่เคยก้าวเข้ามา  ทยอยจบการศึกษากันออกไป  สมัยก่อนเวลานั่งรถผ่านจุฬาฯ  แม่ผมเคยใฝ่ฝันอธิษฐาน อยากให้ลูกสักคนได้เข้าเรียนจุฬาฯ  และแล้วแม่ก็ได้เกินปรารถนา เมื่อลูกแม่สี่คนรวมทั้งเขย สะใภ้ เป็นจุฬาฯ หมด  เว้นอยู่แต่คนเดียว  เราไม่ได้หลงลืมตนว่าเป็นจุฬาฯ แล้วเราจะเด่น เราจะดีเหนือชาวบ้าน  เพราะนั่นคือบ่อเกิด ของความมืดบอดทางปัญญา   และเราไม่ได้มุ่งรักแต่เลือดสีชมพูจนลืมรักพี่น้องร่วมชาติ  เพราะนั่นคือการตระบัด พระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ที่จะให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ  และท้ายที่สุด ผมภูมิใจที่จะตอบใครๆ ว่า ผมเลือกเรียนจุฬาฯ เพราะผมรักจุฬาฯ

 

 

 

 

         

                                            ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                                                 Copyright 2004 Chulalongkorn University Alumni Association of California