สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                               ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

 

         

                                                ยาสูบ

                                                                   ตอนที่ 5

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

 

ตอนผมเริ่มเขียนเรื่องสูบบุหรี่นั้น ผมก็คิดว่าสองตอนก็คงจบ แต่หารู้ไม่ว่าผมคิดผิดถนัด นี่ปาเข้าไปถึงตอนที่ห้าแล้ว ผมคงต้องจบให้ได้ ก่อนที่บรรณาธิการเขาจะมาเตือนว่าให้เขียนให้มันเข้าเรื่องหน่อย ออกนอกเรื่องเรื่อยเลย คนอ่านของเขาจะย้ายโรงไปที่อื่นหมด

ความตั้งใจที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพราะผมยังมีเพื่อนอีกหลายคนที่ติดอยู่กับควันบุหรี่ที่ยังน่าเย้ายวนใจอยู่ ผมก็ได้แต่พูดยั่วเย้า แถมเตือนด้วยความรักใคร่ ก่อนที่เพื่อนทั้งหลายเหล่านี้จะเข้าขั้น  Morbidity & Mortality ที่เกิดจากควันบุหรี่นี้

ทุกครั้งที่อ่านตำราแพทย์เกี่ยวกับโรค เขาจะต้องมีสองคำนี้ให้อ่านเล่น คำแรก Morbidity มอร์บิดีตี้ แปลว่าความเจ็บป่วยจากโรคนั้น ๆ จนถึงขั้นพิการ อย่างเช่นการสูบบุหรี่นี่ ก็ทำให้เจ็บป่วยได้ตลอดเวลา ไอคอก ไอแค็ก เป็นที่รำคาญของครอบครัว และต้องหาหมอบ่อย ๆ แล้วก็ถึงขั้นพิการเพราะหายใจลำบาก

ส่วน Mortality มอร์ตัลลิตี้ คำนี้มาจาก Mortal แปลว่าตาย คำตรงข้ามคือ Immortal แปลว่าไม่ตาย ก็พวกเซียนไงเล่าครับ หรือนางวินัส บุคคลพวกนี้เขาไม่ต้องตาย เพราะกินแต่ลม ไม่ได้อมควัน อย่างพวกสิงห์อมควันทั้งหลาย ก็คงต้องตายจากโรคหัวใจ เพราะเส้นเลือดแดงของหัวใจตีบตัน ปอดพิการแล้วหายใจไม่ออกตาย หรือที่แพทย์ไทยเขาเรียกว่าระบบหายใจล้มเหลว หรือจากโรคมะเร็งปอดกินจนตาย (จริง ๆ นะครับมันกินทั้งเลือดทั้งเนื้อเราจนตาย)

ความพิการที่อาจเกิดขึ้นอีกอย่าง คือท่านผู้หญิงนักอมควัน มักจะออกลูกก่อนกำหนด แล้วเด็กอาจจะตายจาก หายใจไม่ออกตอนเป็นเด็กอ่อนในเปล เรียกว่า Sudden Infant death syndrome SIDS

คนติดบุหรี่นี่น่าสงสารมาก ที่รู้ก็เพราะผมเคยติดมาก่อนซี่ครับ ยิ่งถ้าสมัยนี้เขาห้ามสูบบุหรี่เกือบจะทุกแห่ง เมื่อก่อนนี้ก็แอบเข้าไปสูบในห้องส้วมได้ เดี๋ยวนี้เขาห้ามแม้แต่จะสูบในห้องส้วม โดยเฉพาะบนเครื่องบิน ดังนั้นในสนามบินใหญ่ระหว่างเครื่องบินแวะเติมน้ำมันหรือเปลี่ยนเครื่อง เขาจะจัดมีที่สูบบุหรี่อยู่ เขาเรียกว่า Smoking area แต่ผมว่าน่าจะเรียกว่าห้องอบควันเสียมากกว่า มันเป็นห้องกระจกปิด จะเห็นว่ามีคนแออัดกันอยู่ในห้องนี้ แต่ละคนมีบุหรี่ถือไว้ในมือ และในกระเป๋าคงมีอีกหลายมวนเตรียมไว้สำรองต่อ ๆ กันไป ไม่ให้ไฟบุหรี่มันมอด คงเอากันเต็มที่แก้โรคเงี่ยน แหละครับ คิดว่าในห้องคงมีที่ดูดเอาควันเสียออก แต่มองเข้าไปในห้องก็เห็นแต่ควันเต็มไปหมด

ค่าปรับคนที่สูบบุหรี่ในสถานที่ต้องห้าม มันแล้วแต่เมืองละครับตั้งแต่สองร้อยดอลล่าร์จนถึงห้าร้อยดอลล่าร์ ปรับหนักกันจริง ๆ เพราะเมืองต่าง ๆ ในสมัยนี้ขาดภาษีจากรายได้อื่น ค่าปรับพวกนี้มันได้มาฟรี ๆ เอามันหนัก ๆ จะเป็นไรไป

ที่เขาปรับหนัก ๆ เพราะเขาอ้างว่า Hazard to the second hand smokers อย่าได้ซี้ซั้วแปลว่า คนไปหยิบก้นบุหรี่ที่เขาทิ้งมาสูบต่อ เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยที่แอลเอชอบแปลผิดกันบ่อย เช่นคำว่า Sheriff ของเคานตี้ ก็แปลว่านายอำเภอ ผมอ่านทีไรก็อดทุเรศใจไม่ได้ว่า แปลเข้าไปได้อย่างไร เพราะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่หรือตำรวจของเขตนอกเมืองใหญ่เท่านั่น หรือคือตำรวจนั่นเอง อีกคำที่ชอบเรียก เมือง Los Angeles ว่าเป็นเมืองนางฟ้า ในคัมภีร์ไบเบิลมันมีที่ไหนละครับ Angel ที่เป็นผู้หญิง แล้วคำลาตินก็บอกชัด ๆ ว่าเป็นเพศชาย ไหงดันไปแปลว่าเมืองนางฟ้าได้ไงก็ไม่รู้  แล้วคำว่า Second hand smoker ผมคงต้องแปลว่า ดูดควันบุหรี่จากคนรอบข้าง เพราะเขาทำสถิติว่าคนพวกนี้ก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งของปอดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่เป็นหลายเท่าตัว

 เขาเก็บสถิติว่า 3,000 คนที่เกี่ยวกับควันบุหรี่จะตายจากมะเร็งปอด ส่วนอีก 40,000 คนตายจากโรคหัวใจ

ถ้ายังไม่ตายจากโรคดังกล่าว เด็กหรือผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน มักจะเกิดโรคของหลอดลมอักเสบ Bronchitis, เป็นโรคปอดบวมได้ง่าย ส่วนคนที่เป็นโรคหืดก็อาจจะเป็นมากขึ้น โรคของเส้นเลือดแดง เช่นความดันสูงขึ้น คือโอกาสจะตายจากโรคหัวใจมากขึ้น

แล้วจะทำยังไงเล่าครับ ก็ต้องหยุดสูบบุหรี่ซี่ครับ แต่จะทำบ้า ๆ แบบที่ผมทำตอนหนุ่ม ๆ คงจะไม่ค่อยได้ผล ที่ผมทำไปเพราะความโมโหอย่างสุด ๆ และก็ทรมานด้วย มันมีวิธีที่ดีกว่ามากมาย แต่ก่อนอื่นที่ต้องถามตัวเองก่อน คือ ตัวเองอยากหยุดจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าไม่มีความตั้งใจจะหยุดเอง ช้างม้า วัวควายที่ไหนก็จะหยุดยั้งเราคงจะไม่ได้

ปัญหาของการหยุด มันก็มีบ้างนิดหน่อย จะแยกแยะให้ดู คือนิสัย หรือการติดจากนิสัยและจิตใจ ถ้าไม่สูบ มือไม้มันไม่อยู่สุข และมีอาการอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ขาดอะไรไปสักอย่าง ทั้ง ๆ ไม่ได้ขาดเมียหรือผัว แถมกินข้าวบ่แซบ นอนไม่สนิท อย่างที่คนเขมรเขาพูดว่า ญำบ่ายอ๊อดฉะงาน เดกอ๊อดลัวะ (สองประโยคนี้ผมท่องจำจนแม่นเลย เวลาดูคนไข้สูงอายุ เขาจะมาด้วยอาการอย่างนี้มากเสียด้วย) นั่นแหละครับ ตอนเช้าก็งัวเงีย ไม่อยากตื่นไปทำงาน เหมือนผมเลยครับ ทุกเช้าผมจะจำผิดคิดว่าเป็นวันอาทิตย์ไปเสียทุกวัน เขาเรียกว่าเป็นโรค จิตกดต่ำแล้วครับ Depression

ถ้าเกิดอาการดังกล่าว หมอก็อาจช่วยด้วยการให้ยากล่อมอารมณ์อ่อน ๆ เช่น แวเลี่ยม Valium ลิเบรี่ยม Librium, แซนแนค Xanac เป็นต้น ถ้าอาการเข้าขั้นอาจต้องกินยาจำพวกแก้จิตกดต่ำกันจริง ๆ เลย ตอนนี้ก็มีตัวเอกเรียกว่า Zyban หรือ Bupropion ตัวนี้เขาว่าดีนักแล เม็ดหนึ่งราว ๆ $ 1.50 กินวันละสองครั้ง ตอนจิตตกต่ำ จะกินยา Viagra คงจะไม่ช่วยอะไรได้หรอก

แล้วปากเล่าจะอมอะไรดี เอ! หมากฝรั่งก็คงจะได้มั่ง หรืออะไรก็ได้ที่ชอบอมละครับ แก้ปากเปรี้ยว

ส่วนโรคเงี่ยนนั้นที่เกิดจาก นิโคติน ถ้าจะหยุดเองก็คงจะยากเย็นหน่อย แต่ไม่เป็นไร เขามีวิธีทดแทนให้ คือมีการทดแทนด้วยนิโคติน ซึ่งมีมาหลายแบบด้วยกัน มีตั้งแต่ แบบอมเหมือนเม็ดน้ำตาล แบบเป็นหมากฝรั่ง แบบติดผิวหนังแปะติดวันละครั้ง

การใช้ยาพวกนี้ก็ต้องแล้วแต่หมอแต่ละคนจะสั่ง หรือความสะดวกของคนไข้ ถ้าคนติดยาแค่วันละสิบมวน ก็พยายามให้หยุดเอง แต่เสริมด้วยยาช่วยระงับความหงุดหงิด แต่ถ้าคนสูบยาเกินหนึ่งซองต่อวัน ก็ต้องให้ยานิโคตีนเสริมละ อาจให้ถึงวัน 7-21mg ต่อวัน โดยมากใช้ถึงแปดอาทิตย์ โดยค่อย ๆ ลดยาลง ถ้ายังไม่แน่ใจก็ต่อไปอีกเดือนสองเดือนจะเป็นไรไป

ถึงแม้ยาหรือนิโคตีนทดแทน พบว่า ภายหลังครึ่งปี มีเกือบสี่สิบเปอร์เซนต์กลับไปดูดยาใหม่อีก

ทั้งนี้สี่งแวดล้อมเป็นตัวสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าอยู่ในพรรคพวกที่สูบยาแล้วมักจะต้องหวนกลับไปสูบใหม่ เพราะเกรงใจ หรือครอบครัวยังมีใครสูบอยู่ ก็คงเห็นบุหรี่เที่ยววางเกะกะไปทั่ว ก็คงต้องเอาสักหน่อยจะเป็นไร พวกที่สูบยาพวกนี้ มักจะมีการติดเหล้าเข้าแทรกด้วย หมอก็อาจต้องรักษาทั้งสองอย่าง

ฉะนั้น ความตั้งใจ สิ่งแวดล้อม อารมณ์และความกดดันทางจิตใจ และนิโคตินเสริม ทั้งหมดนี้จะช่วยให้หยุดการสูบยาได้มากทีดียว

แล้วยังคิดอยากจะหาทางรวยโดยซูบริษัททำยาสูบอีกหรือเปล่า

         ขอให้ทุกคนที่ตั้งใจหยุดสูบจงมีสุขภาพที่แข็งแรง หน้าตาสดใส ผิวหนังไม่เหี่ยวเร็ว

 

         กลับไป ตอนที่ 4                                                                           

 

                                                      กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                          ABOUT US    |    EVENTS    |    NEWS    |    ALUMNI BOARD    |    CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California