สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                              Olympic Games   

                                                                     ตอนที่ 2

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

 

            ทุกครั้งของฤดูแข่งขันนี้ จะมีผู้คนมาร่วมไม่น้อยกว่า สี่หมื่นคน กีฬาที่แข่งขันกันก็มีไม่มาก เช่น วิ่งแข่ง วิ่งเร็ว กระโดดไกล การขว้างจาน หลาว ตุ้มน้ำหนัก มวยปล้ำ มวยฟรีสไตล์ การแข่งม้า แบบรถรบ หรือม้าเดี่ยว ๆ โดยมีจ๊อกกี้ แบบที่ไม่มีอาน ไม่มี Stirrup โกลนสำหรับเท้า

ก่อนแข่งขันเขาจะมีการเซ่นไหว้โดยการฆ่าหมูหนึ่งตัว บางตำราก็ว่าเป็นวัว ก่อนจะสาบานตัว แล้วจุดเตาไฟหน้าศาลพระเจ้าเรียกว่า Alta ด้วยน้ำมันมะกอก โดยมีนางสาวพรหมจารีย์เป็นคนจุดไฟอันศักดิ์สิทธิ์นี้ คำสาบานก็คงไม่ยาว แค่สามม้วนผ้า (เมื่อก่อนไม่มีกระดาษ) มีใจความว่า ข้า ฯ ได้ฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบเดือน จะไม่ขี้โกงระหว่างแข่งขัน เชื่อกฏและคำสั่งของกรรมการทุกอย่าง

สถานนี้ก็ยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ และในสมัยนี้ก็ต้องจุดไฟจากสถานที่นี้ เพื่อไปเป็นเชื้อระหว่างการแข่งขันอยู่ เชื้อไฟนี้จะจุดโดยนางสาว (Virgin หรือเปล่าสมัยนี้ไม่มีใครสนใจละ) แต่งขุดขาวสี่คน ไฟจุดโดยให้แสงพระอาทิตย์ผ่านกระจกเลนส์แผ่นใหญ่ให้ติดเป็นไฟ

การแข่งขันนี่เริ่มต้นเมื่อปี 776 BC ตอนหน้าร้อน คนแรกที่ได้ครองตำแหน่งเหรียญทองเป็นพ่อครัวชื่อ Kaloibos จากเมือง Elis ข้างเคียง ได้ี่หนึ่งจากการแข่งวิ่งเร็ว การแข่งขันเดิมทีก็มีแค่สี่วัน แล้วก็มีกีฬาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนขยายเวลาออกไปจนเป็นเจ็ดวัน จะมีประเทศรัฐเกือบร้อยมาร่วมด้วย

การชนะหรือแพ้ จะเป็นทั้งเกียรติยศหรือความอัปยศของนักกีฬาและรัฐที่ส่งมาแข่งทีเดียว จะไม่มีคำว่ายอมแพ้ มีแต่สลบ น๊อคเอาต์ แขนขาหัก หรือตายเท่านั้น การยกนิ้วขอแพ้นั้น อาจจะกลับบ้านเมืองตัวเองไม่ได้ เพราะคนเขาจะรังเกียจมาก แม้แต่พ่อแม่ตัวเอง เพราะชาวกรีกถือว่าการไปแข่งขันนี้ก็เท่ากับไปรบ มีแต่ชนะหรือตายเท่านั้น จะไม่มีการยอมแพ้

ก่อนหน้าและหลังรวมกันเป็นเวลาสามเดือน ทุกรัฐจะต้องหยุดทำสงครามกันเป็นเวลาสามเดือน เพื่อให้นักกีฬาได้ฝึกแล้วเดินทางมาแข่งขันโดยความปลอดภัย ถ้ารัฐไหนฝ่าฝืนจะถูกพระเจ้าปรับเอาอย่างแรง และก็มีเพียงรัฐเดียวที่เคยฝ่าฝืนคือรัฐ Sparta ตอนทำสงครามกับรัฐ Athens แล้วไม่ยอมหยุดตามคำบัญชาของพระเจ้า เลยถูกปรับแล้วนักกีฬาของรัฐนั้นถูกโห่ในระหว่างงานกีฬาเพราะฝ่าฝืนกฏข้อนี้อย่างร้ายแรง

ก่อนการแข่งขันสักสี่ห้าเดือนจะมีผู้แทนจากองค์การโอลิมเปียหลาย ร้อยคน เดินทางทั้งทางบกและเรือไปที่รัฐต่าง ๆ หรือปล่อยนกพิราบบอกสาร แล้วป่าวร้องว่า Ekecheiria (คงอ่านว่าอีเคไคเรีย) แปลว่า สันติภาพโดยการหยุดรบชั่วคราว เป็นเวลาสามเดือน ในฤดูร้อน และเจอกันโดยสันติภาพที่โอลิมเปียนะโว้ย

การแข่งขันกีฬาไม่ใช่จะมีแต่ที่ โอลิมเปียที่เดียวเท่านั้น รัฐอื่น ๆ เขาก็มีการแข่งกีฬากันเหมือนกัน แต่ที่คิงออฟเดอะบิ๊ก  แล้วก็ต้องที่โอลิมเปียนี่เอง เพราะถือว่าเป็นเกียรติที่สูงสุด รางวัลก็ได้ด้วย ฟังถึงค่างวดของรางวัลแล้ว คอตกเลย ก็แค่ใบไม้ Oliveมาขดเป็นมงกุฏครอบหัวเท่านั้น แถมได้น้ำมันมะกอกอีกหนึ่งไห (บางตำราว่าสองไห) ไว้เป็นเชื้อเพลิงจุดไฟบูชาพระเจ้าซุสที่วิหารนั่นแหละ

ของรางวัลไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักกีฬา แต่อยู่ที่ได้มีชื่อสลักไว้ในสถานที่นี้ว่าเป็นผู้ชนะ ส่วนนักกีฬาที่ขี้โกงในเกมก็ได้มีชื่อเหมือนกันแต่สลักอยู่ที่ฐานรองรับรูปพระเจ้าซุสองค์เล็ก ที่หล่อขึ้นมาใหม่จากเงินค่าปรับของรัฐที่ส่งนักกีฬานั้นมา รูปพระเจ้าซูสนี่จะมาเรียงรายตามทางเดินขาเข้า Stadium ของนักกีฬา พอเลยประตูโค้ง ก็จะเห็นหุ่นพระรูปเรียงรายอยู่บนฐาน แล้วนักกีฬาจะบ้วนน้ำลายใส่ที่ใต้ฐานนี่ (ไม่ใช่ใส่รูปของพระเจ้าซุส) ชื่อที่เสียนี่ก็ เป็นที่รู้กันทั่วไปตลอดกาล ไม่รู้ว่าตานักกีฬาขี้โกงนี่จะยอมกลับบ้านหรือเปล่าตอนจบเกมส์แล้ว ขืนกลับบ้านเมือง มีหวังถูกจับขายเป็นทาสแหง ๆ เลย แท่งหินที่สลักชื่อเหม็นนี่ยังเหลืออยู่ที่ฐานจนปัจจุบันนี้ แต่รูปพระเจ้าไม่มีเหลือแล้ว เขาคงขนเอาไปทำอาวุธสมัยโรมัน

เมืองไทยน่าจะทำอย่างนี้บ้าง ผมว่าคงเป็นพวกักการเมือง โดยเฉพาะรัฐมนตรีเสียมากกว่า โดยทำเป็นเสาแล้วแกะชื่อพวกจัญไรเหล่านี้ ตั้งไว้ที่หน้าสภาหรือศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนั่นแหละ ให้นามสกุลมันเหม็นกระฉ่อนไปชั่วกาลนาน แล้วพวกเราจะได้มีที่บ้วนน้ำลายได้

ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะที่หนึ่งเหล่านี้เมื่อกลับรัฐของตัวจะได้รับการยกย่อง ต้อนรับอย่างมากมาย เผลอ ๆ ได้แต่งงานกับลูกสาวแสนงอนของเจ้าเมืองก็ได้ ใครจะไปรู้ แต่ที่แน่ ๆ สำหรับนักกีฬาของเมืองรัฐเอเธนส์จะได้รับเงินก้อนใหญ่ ได้นั่งกับเจ้าเมืองตอนไปงานต่าง ๆ โดยเฉพาะ เวลากินเลี้ยงเขาจะดื่มเหล้า อุซโซ่ ให้สามจอก แล้วก็ร้อง โอป้า Ohpa กันทุกคนแก่นักกีฬานี้ เป็นเวลาสี่ปี จนถึงฮีโร่คนใหม่มาแทน แถมไม่ต้องเสียภาษีทั้งชาติ บางแห่งถึงกับเจาะรูใหญ่ที่กำแพงเมือง เพื่อให้นักกีฬาคนนี้เดินผ่านเข้าเมือง

ผู้คนที่มาในงานกีฬานี้บิ๊ก ๆ ทั้งนั้น นอกจากมาเชียร์กีฬาในสังกัดของตนแล้ว ยังมาต๊าอ้วย เจรจากับรัฐอื่นด้วย เช่นลูกสาวลื้อหาผัวได้หรือยัง ลูกชายอั๊วอยากได้ ลื้อจะเอาสินสอดเท่าไหร่ หรือจำพวกที่มาขอแลกม้าห้าสิบตัว กับหอกแบบสเต๊นเลสสตีล ห้าพันเล่มเอาไหม หรือจำพวกขอแลกเชลยศึกคราวที่แล้ว แล้วลื้อต้องแถมทาสสาวให้อั๊วกี่คน นอกนั้นก็อาจเรื่องจิ๊บจ๊อย

นอกจากพวกนักการเมืองแล้ว นักเขียน ก็มาขายบทละคร หนังสือ นักร้อง ตุ๊กตาทองบรอนส์ นักขายหม้อ สาระพัดหม้อ หม้อใหญ่ หม้อเล็ก หม้อใหม่แบบใหญ่หรือเก่า มีหมด คนขายเหล้าองุ่น ขายน้ำมัน ขายม้า ขายควาย ช่างแกะหิน หล่อรูปมีเกือบทุกอย่าง เหมือนงานออกร้านเคาน์ตี้แฟร์เดี๋ยวนี้ก็ปานกัน แต่ว่ายิ่งใหญ่กว่า

ขอโทษ ทำไมตัวคุณถึงเหม็นตุ ๆ อุ๊ยตาย ไปเหยียบเอาปุ๋ยของใครเข้าเสียแล้ว ตอนไปทำธุระในพงนั่น ครับ! เขาไม่มีส้วมให้หรอก โน่นแน่ครับ ในพงหญ้านั่นแหละ ตามสบายเลย

ที่สำคัญที่สุดที่พระในวิหารชอบมากที่สุดในงานนี้ นั่นคือเจ้าเมืองที่ไปรบชนะมา จะเอาของขวัญที่ยึดมาจากศัตรู (Spoils of War) มาถวายบูชาแก้บนเข้าวิหารมากมาย บางรายมากจนขอตั้งกระท่อมก่ออิฐสำหรับรัฐนั้น ๆ เก็บของพวกนี้ไว้บูชาพระเจ้า เรียกว่า Treasury ก็อย่างนี้แหละครับ ตอนขุดซากของโอลิมเปียที่จมใต้โคลนถึงเจอของบูชาพวกนี้มากมาย ทุกรัฐจะถวายเงินทองถวายแก่พระเจ้า จะได้จ้างคนงานมาเก็บกวาดทุ่งที่เหม็นด้วยอึ กองขยะ ใบปลิว ถุงกระดาษ หลังงานเลิกแล้ว

เป็นเวลาเกือบ 1500 ปี หลังจากเกมส์สุดท้ายเมื่อปี AD -393 ประเทศกรีกก็ริเริ่มนำกีฬานี้มาสู่ชาวโลกอีกครั้ง เมื่อปี AD 1896 เดือน April ที่เมืองเอเธนส์ ใหม่ แต่ลักษณะและเกมส์ก็เปลี่ยนไป มีกีฬาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย รวมทั้งกีฬาทางน้ำด้วย แถมรายการที่โด่งดังที่สุดคือ วิ่งมาราทอน ซึ่งอาจไม่มีในสมัยนั้น (ไม่เห็นพูดถึงกัน) โลกใหม่เราก็เลยเอาประเพณีการแข่งกีฬาที่โอลิมเปียว่า Olympic Games แข่งทุกสี่ปีเหมือนกัน มีเว้นก็ตอนสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น

นอกจากโอลิมปิคเกมส์หน้าร้อนแล้ว ทางเมืองหนาวเขายังจัด โอลิมปิคเกมส์หน้าหนาวอีกด้วย ทุกสี่ปีเหมือนกัน คือสลับกับโอลิมปิคหน้าร้อน เป็นการเอาเปรียบประเทศโซนร้อนที่ไม่เคยเห็นหิมะเลยทั้งกะชาติ เลยไม่มีสิทธิ์จะไปแข่งแบบหน้าหนาวกับเขาด้วย

การวิ่งมาราทอน เริ่มแรกมันไม่ได้เป็นการวิ่งเพื่อแข่งกัน แต่มันเป็นการวิ่งเพื่อบอกข่าวชัยชนะที่เมืองมาราทอนของทหารกรีกเมื่อปี 490 BC เมื่อพระเจ้า Darius 1 (อ่านว่าดาไรอุส) ของเปอร์เซียยกกองทัพเรือบุกเข้ามาจอดที่อ่าวที่เมือง Marathon ด้วยพลรบ 25,000 คน ส่วนทางกรีกมีพลรบแค่ 10,000 คน แต่ด้วยความเก่งกล้าและวิธีการยุทธของนายพล Miltiades จึงสามารถรบได้ชัยชนะ โดยเข่นฆ่าชาวเปอร์เซียไป 6000 คน ส่วนทหารกรีกเสียชีวิตแค่ 192 เท่านั้น ข่าวการรบได้ชัยชนะนี้ก็ให้ทหารคนหนึ่งที่ยังแต่งชุดรบเต็มยศวิ่งไปบอกข่าวชัยชนะที่เมืองเอเธนส์ซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบ 26 ไมล์ (41 กิโล) พอบอกข่าวดีเสร็จก็ขาดใจตายคาที่ด้วยหัวใจวาย (น่าจะบอกว่าชื่ออะไรก่อนตาย การวิ่งมาราทอนอาจจะเอาชื่อเขาแทนก็ได้) เหตุการณ์ครั้งนี้เขาเลยเอามาแข่งถึงความอดทนของมนุษย์ โดยวิ่งระยะทางเท่ากันกับที่เขาวิ่งมา แต่ไม่ทราบได้ว่าเขามีการวิ่งในสมัยโน้นหรือเปล่า เราเลยเรียกว่า วิ่งมาราทอน เพื่อดูความอดทนของมนุษย์ โดยไม่ได้เปลี่ยนระยะทางเลย

  

                 กลับไปตอนที่ 1                                    

                               

                                                          กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน    

    

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California