สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                               Marathon

                                                                     ตอนที่ 1

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

   Marathon มาราทอน              

วันอาทิตย์ที่ 7 เดือนมีนาคม 2004 ผมได้มีโอกาสไปดูการแข่งขันวิ่งทนมาราทอนที่เดาน์เทาน์ แอลเอ ปีนี้มีคนแข่งขันกันมากเหลือเกิน ทางทีวีบอกว่า สองหมื่นห้า แต่ตัวเลขจริงในวันวิ่งมีเกือบสองหมื่นแปดคน เกือบจะมากกว่าคนไปดูเสียอีก

ปรากฏว่าปีนี้คนได้เงินรางวัลเป็นผู้หญิง เป็นชาวยูเครน หรือรัสเชียเก่านั่นเอง วิ่งได้ความเร็ว สองชั่วโมงครึ่ง รางวัลมีค่าเจ็ดหมื่นห้าพันเหรียญ กับรถฮอนด้าหนึ่งคัน ถ้าใครอยากได้เงินรางวัลปีหน้า ปีนี้ก็ควรเริ่มฝึกวิ่งได้แล้ว

ผมก็ไม่เคยไปดูเขาแข่งกันจริง ๆ ในสนาม ที่ต้องไปคราวนี้เพราะลูกสาวเขาไปแข่งด้วย เสียเงินไปหกสิบเหรียญค่าแข่ง ไม่ใช่เขาหวังได้รางวัลอะไรหรอก แต่อยากแข่งกับตัวเอง ว่ายังแน่อยู่หรือเปล่า รายนี้เสียเวลาเกือบหกชั่วโมงครึ่งกว่าจะเข้าเส้นชัย ถามว่าทำไมถึงนานนัก เสียเวลาเกือบสามเท่าตัวของคนที่ได้ที่หนึ่ง เขาว่าเพราะมีหญิงเกาหลีที่วิ่งอยู่ข้าง ๆ เป็นลมต่อหน้าต่อตาเขา เลยต้องเสียเวลาช่วยเขาหน่อยจนพยาบาลมารับช่วงต่อ แล้วระหว่างทางเกือบสิบไมล์ก่อนถึงหลักชัย เกิดตะคิวกินที่น่อง เลยต้องนั่งพักกว่าจะหายแล้วทนทู่ซี้วิ่งต่อจนจบ ระหว่างทางผ่านเมืองเกาหลี ร้านอาหารที่นั่นก็ส่งกลิ่นอาหารบาบีคิว  เนื้อย่างฟุ้งไปหมด เกือบจะเลิกวิ่งละ เพราะหิวข้าวมาก

ตอนระยะสุดท้ายที่เข้าถนนเฟลาเว่อร์ เกือบจะต้องเดินเสียแล้ว แต่บนป้ายนัมเบอร์ที่ติดอยู่ใส่ชื่อตัวเอง Rita ผู้ชมนักเชียร์ทั้งหลายคิดว่าเป็นชาวแม็กซีกัน เลยตะโกนเชียร์กันใหญ่ RITA GO, RITA GO !!! ลูกสาวผมเลยจำใจวิ่งเหยาะ ๆ ต่อ ทั้ง ๆ อยากนั่งมันที่ข้างถนนนั่นแหละ ต้องเอากำลังใจและแรงสุดท้ายถ่อเข้าหลักชัยที่ถนนสาม เพื่อเอาเหรียญให้ได้ วิ่งมากว่ายี่สิบห้าไมล์แล้วจะมาหยุดแค่นี้ไม่ได้ คนที่เช้าหลักชัยนอกจากได้เหรียญห้อยคอแล้ว ยังได้กระดาษฟอยล์มีตราโลโกของแอลเอมาราทอนคลุมตัวหนึ่งแผ่นกันความหนาว ทั้ง ๆที่อากาศวันนั้นมันร้อนถึงเก้าสิบกว่าดีกรี คิดว่าเป็นเสื้อคลุมชนะเลิศก็แล้วกัน ขาออกเห็นข้าง ๆ ที่หลักชัยมีเต๊นท์พยาบาลสำหรับคนเป็นลมกำลังรับน้ำเกลือกันเป็นแถว

มีผู้เข้าแข่งขันที่ออกจากเส้นชัยแล้วนอนแผ่สองสลึงกันบนพื้นมากมาย แถวที่รอพักของญาติมิตร แถมมีของที่อาเจียนออกมากองอยู่ข้าง ๆ แสดงว่าแค่ขยับให้ไกลจากอาจมนั่นก็ยังไม่มีแรงพอ แต่ละคนหน้าซีดเหมือนกระดาษ แม้จะเป็นลมยังไงก็ไม่ยอมถอดเอาเหรียญชัยออก นี่แหละคือมนุษย์ที่อยากทดลองกับตัวเอง เพื่อเอาชนะตัวเอง ไม่ว่าจะเจ็บปวดเมื่อยล้าขนาดไหน ลูกสาวคนหนึ่งละ เจ็บปวดไปหมดทั้งตัว เล็บเท้าบางนิ้วดำช้ำไปหมด  ต้องเดินขาลาก ๆ ตัวงอ ๆ เลยไม่ได้ไปทำงานเสียหนึ่งวัน ผมถามเขาว่าถ้าเมื่อยและหน้ามืดมาก อยากไปให้น้ำเกลือที่ร้านคลีนิคผมสักหนึ่งลิตรไหม อาจจะช่วยให้อาการดีขึ้น เขาไม่อยากได้ เพราะกลัวเจ็บ

ทั้ง ๆ ที่ต้องเจ็บปวดทั้งตัว ตั้งแต่หัวจนถึงขาเป็นเวลาหลายวัน ปีรุ่งขึ้น 2005 ในเดือนเดียวกัน ก็ยังไปสมัครวิ่งกับเขาอีก บอกว่าเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตนี้แล้ว เพราะอยากได้เหรียญเขาแขวนคอเท่านั้น อย่างนี้ก็มีด้วย

ระยะทางของการแข่งมาราทอน มันต้องเป็น สี่สิบกิโลเมตร แต่ที่นี่เขาเอาเป็นไมล์ก็เลยเป็นยี่สิบหกไมล์กว่า การแข่งมาราทอนนี่จะต้องมีทุกโอลิมปิกเกม และเป็นรายการตบท้ายที่คนดูมากที่สุด เพราะมันต้องแข่งในวันปิดการแข่งขันประจำทุกสี่ปี เห็นนักวิ่งที่เข้าประตูสเตเดียมอย่างทุลักทุเล แล้วยังต้องวิ่งอีกรอบสนามให้ถึงหลักชัย จะเห็นว่าแต่ละคนวิ่งละห้อยขาลาก บางคนต้องคลานไปให้ถึงหลักชัย เขาห้ามพรรคพวกเข้าไปประคองจะถูกถอดจากการแข่งขันทันที Disqualify ต้องทนดูไป จนกว่าขาไปแตะเส้นหลักชัยแล้วถึงเข้าประคองตัวได้ ผมจำได้ตอนผมหนุ่ม ๆ เห็นหนังข่าวฉายมีนายอาเบเบ้ Abebe ชาวเอธิโอเปีย วิ่งเท้าเปล่าตลอดทาง และได้ที่หนึ่งเสียด้วย หลังจากนั้นก็มีการแข่งขันมาราทอนกันในเมืองใหญ่ ๆ เป็นที่นิยมกันทั่วไป คนวิ่งก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่เมืองไทยก็ยังจัดการแข่งขันขึ้นด้วย โดยวิ่งผ่านสะพานลอยราว ๆ เดือนพฤศจิกายน ผมว่าน่าจะจัดในวันสงกรานต์ คนวิ่งคงจะสบายขึ้น เพราะมีคนข้างทางคอยรดน้ำให้เปียกชุ่มตลอดทาง

เล่าไปเล่ามาก็ไม่พ้นเรื่องของกรีก แต่ทว่าคราวนี้ไม่เกี่ยวกับเทพยาดาทั้งหลาย แต่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์จริง ๆ

 

มันเกี่ยวกับสงครามแหละครับ เรื่องเพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินเปอร์เซียต้องการขยายอำนาจออกมาทางด้านยุโรป และแค้นใจที่ชาวกรีกด้านตะวันตกของทะเลอีเจี้ยน ไปช่วยชาวกรีกที่ตั้งบ้านเมืองอยู่ตามเมืองชายฝั่งรอบ ๆ ทะเลอีเจี้ยน ให้ขึ้นมาต่อต้านชาวเปอร์เชีย บ้านเมืองที่ติดชายฝั่งด้านเอเชียไม่เนอร์พวกนี้เคยถูกชาวเปอร์เชียรุกรานเอา จนตกเป็นเมืองขึ้นสเกือบทั้งหมด กษัตริย์เปอร์เชียองค์นี้คือพระเจ้า Darius ผู้ยิ่งใหญ่ มีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล ตั้งแต่อีจิปต์จนถึงอินเดีย เลยต้องส่งกองทัพมาสั่งสอนกันเสียหน่อย แล้วจะได้รุกรานยึดเป็นเมืองขึ้น เพื่อเอามาส่งส่วย เรียกว่าส่ง Earth and Water ทุกปีไป

เมื่อส่งนักการทูตไปเรียกร้องก็ถูกทำร้ายกลับมา จำจะต้องลงโทษด้วยรุกรานทางทหารอย่างรุนแรง ให้เข็ดหลาบ

ครั้งแรกในปี 492 BC (ก่อนคศ).ก็ยึดได้รัฐทางเหนือคือ Thrace (จำหนังเรื่องSpartacus พระเอกนายคางบุ๋ม เคิร์ก ดักกลาส ก็แสดงเป็นทาษที่มาจากเมืองนี้แหละ) และ Macedonia (รัฐของพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชในกาลต่อมา) แต่ว่ากองทัพเรือไปล่มเสียก่อนที่จะเดินทางต่อไปที่รัฐทางใต้ เพราะไปเจอพายุรุนแรงที่รอบแหลม Athos จนกองทัพเรือแตกล่มสลายหมด เขาว่าด้วยอำนาจของเทพพระเจ้าซุส Zeus ส่งพายุลมร้ายมาช่วย เหมือนลมพายุคามิกาเช่ที่ช่วยประเทศญี่ปุ่นรอดพ้นจากกองทัพเรือของเจองกีสข่านที่เกรียงไกร

ต่อมาปี 460 BC พระเจ้า ดาเรียสส่งกองทัพเรือและทหารบกมาพร้อมกัน มีเรือรบ หกร้อยลำ และกองทัพบก เก้าหมื่นคน คราวนี้ให้เจาะคลองผ่านทางเหนือของแหลม Athos เพื่อไม่ให้เกิดไปเจอลมพายุที่ปลายแหลมนี้ แล้วกองทัพเรือก็วิ่งลงมาทางใต้ ไปตั้งค่ายบนบก และอีกส่วนหนึ่งให้อยู่บนเรือ ที่ตั้งค่ายนั้นคือ ทุ่งโล่งมาราทอน Marathon เพราะวางแผนจะใช้ทหารม้าได้สะดวกในทุ่งโล่งอย่างมาราทอน ทุ่งนี้ห่างจากเมืองหลวงเอเธนแค่ 40 กิโลเมตร หรือ 26 ไมล์เท่านั้น ถ้าบุกตลอดเพียงระยะแค่นี้ วันหนึ่งก็ถึงได้ แล้วก็จะทำลายกรุงเอเธนได้สะบาย  นอกนี้ยังใช้กองทัพเรือที่มาด้วย แล่นอ้อมแหลมทางใต้ที่ Sunium ซูเนียม ก็ถึงกรุงเอเธนพอดี  เรียกว่าตีขนาบทั้งสองหน้าเลย

ตั้งค่ายยังไม่ทันเสร็จก็เห็นทหารกรีกกรีฑามาตั้งค่ายอยู่ไม่ห่างนัก ทางตะวันตก กองทัพกรีกกะว่าจะรอให้กองทัพของพันธมิตรอีกหลายรัฐมาเจอกัน เมื่อมาถึงก็จะบุกทันที แต่สุดท้ายก็เข้าโจมตีภายในสองวัน เพราะถ้ารอนาน เดี๋ยวพรรคพวกที่รวมกันอยู่ตอนนี้จะพลอยเปลี่ยนใจ และเพราะแม่ทัพรู้ถึงการรวมตัวของกองทัพเปอร์เชียดีว่า เป็นกองทัพผสมของหลายชาติ ไม่ค่อยมีกำลังใจสู้เท่าไหร่ ต้องรีบบุกอย่าได้ให้ตั้งตัวติดด้วยกำลังกองทัพเมืองเอเธนและรัฐที่อยู่ใกล้ ๆ รวมกันแค่ หมื่นคน ก็เข้าบุกแต่เช้า ด้วยคำสั่งของแม่ทัพคนเดียว ไม่เหมือนของเปอร์เชียมีแม่ทัพหลายคน ต่างก็คุมกองทัพของชาติ หรือรัฐของตัวเอง

ด้วยทหารของกรีกเข้าใจกันว่า ถ้าศึกครั้งนี้ถ้าไม่ชนะก็ต้องตายหมดทุกคน ก็ต้องสู้กันแบบถวายชีวิตกันทุกคน สุดท้ายกองทัพเปอร์เชียเกือบเก้าหมื่นคนก็แตกกระจาย หนีลงน้ำ หรือลงเรือ ตายไปก็มากมาย กะคำนวณว่าถึงหกพันกว่าคน ส่วนของกองทัพกรีกตายแค่ 192 คนเท่านั้น

เมื่อได้ชัยชนะแล้วก็ส่งทหารคนหนึ่ง ให้วิ่งไปบอกข่าวชัยชนะครั้งนี้ให้ชาวเมืองเอเธนรู้ ตอนนั้นก็ราว ๆ เดือนพฤษภาคม เกิดอากาศมันร้อนด้วย ทหารส่งข่าวนักวิ่งคนนั้นก็วิ่งไม่หยุดตลอดระยะทาง 40 กิโลเมตร ใส่เครื่องรบเต็มยศ พอเข้าเมืองตะโกนบอกว่า "We have been victorious" เราชนะแล้ว ตะโกนได้แค่นี้ก็ขาดใจตายทันที ในชุดนักรบเต็มยศ โดยก่อนตายไม่ได้บอกชื่อเสียงเรียงนามเสียก่อน จะได้เลื่อนยศ แล้วลูกเมียจะได้รับเบี้ยบำนาญไปทั้งชาติ นี่แหละคือที่มาของระยะทาง 40 กิโลเมตร ในการวิ่งมาราทอน ส่วนการรบในช่วงต่อไปมันก็สนุกอยู่ แต่ผมขออุบเอาไว้ เผื่อเอาไว้เล่าตอนหลัง เมื่อหมดภูมิ (อ่านต่ออาทิตย์หน้า)

                                                                                                

                                                                                                       อ่านต่อ ตอนที่ 2

 

   หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2005 Chulalongkorn University Alumni Association of California