สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                            การให้เลือด                         

                                                                      ตอนที่ 1

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

Blood Transfusion (การให้เลือด)  

มีคนไข้มาถามถึงเรื่องการให้เลือด บอกว่าเพื่อนเขาบางคนจะไปให้เลือด แต่ที่เร็ดครอสเขาไม่รับ เพราะไปพบว่ามีโรคตับ Hepatitis อยู่ เพื่อนเขาตกใจมาก เลยขอให้เพื่อนเขามาถามผมว่ามันเป็นอะไรกันแน่(แปลกจริงต้องผ่านหลายทอด กว่าจะรู้เรื่อง หรือผิดเรื่องก็ได้)

          วัตถุประสงค์ของการบริจาคเลือดนั้น มีเป็นสองอย่างคือ ให้แก่คนที่เราอยากให้ แบบนี้ก็ต้องให้ในเลือดกรุ๊บเดียวกัน โดยมากจะเป็นญาติกัน ส่วนการให้อีกจำพวกหนึ่งคือให้แก่ธนาคารเลือดเขา ไม่จำเป็นที่จะเลือกกรุ๊ป

การให้เลือดก็ต้องมีวิธีการหน่อย ไม่ใช่ว่าเราเดินเข้าไปในห้องให้เลือด แล้วก็บอกเขา "เอาเลย เท่าไหร่เท่ากัน เอาไปเลย เป็นถังก็ยังได้" เขาไม่ซี้ซั้วเอาหรือเจาะเลือดเราหรอกครับ ก่อนเจาะเขาก็ต้องถามอะไร ถามพ่อถามแม่ให้มันรู้กัน (อย่าเพิ่งโมโห เพราะถามถึงพ่อแม่ก็อาจเกี่ยวกับโรคกรรมพันธุ์เท่านั้น เช่นโรคหัวใจ ความดัน โรคเลือด เบาหวาน อย่างแรง เลือดไหลไม่ค่อยหยุดพวกนี้เป็นต้น พวกนี้เขาก็ไม่อยากได้) นอกนี้ก็ถามอีกซอกแซก เช่นผู้ชายก็เรื่องเคยเที่ยวนางหากินหรือเปล่า เป็นเพศกลับหน้ากลับหลังหรือเปล่า เพื่อป้องกันอันตรายจากคนให้ และคนรับเลือดจะแพร่เชื้อ HIV เอดส์

          มีโรคหลาย ๆ อย่าง เขาจะไม่รับเลือดของเรา โรคที่เขาไม่รับชั่วคราวก็มีโรคโลหิตจาง กินยาบางอย่าง เช่นยาเสพติด ยาบ้า เพิ่งจะปลูกฝีบางอย่าง เร็ว ๆ นี้ เป็นโรคมาลาเรีย ตั้งท้องอยู่หรือเปล่า ไปมีการสักที่ผิวหนังโดยอาจารย์ไหนเร็ว ๆ นี้ ให้เลือดภายในสิบสองเดือนนี้ เป็นโรคความดันสูงหรือโรคหัวใจ

          โรคที่เขาไม่เอาเลยก็มี เอดส์ AIDS โรคเลือดไหลไม่หยุด กำลังรักษาโรคมะเร็ง กินยารักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหืด โรคตับติดต่อ Hepatitis A, B, or C.

          มีเรื่องเล่ากันมาในโรงเรียนแพทย์ต่อ ๆ กันมาว่า มีท่านราชนุกูลองค์หนึ่งเข้าไปรับการรักษาพระองค์ในโรงเรียนแพทย์ แล้วต้องการเลือดเพราะจะต้องใช้เลือดตอนผ่าตัด ก็ได้ทรงขอร้องอาจารย์ให้ถามหาแต่เลือดของนักศึกษาแพทย์ชายเท่านั้น อาจารย์ก็สงสัยเลยทูลถามว่าเพราะอะไร พระองค์ก็ตอบว่าอยากได้แต่เลือดของผู้ชายเพศเดียวกัน และที่มีเชื้อฉลาด ๆ เท่านั้น อาจารย์เลยทูลว่าพวกนักเรียนแพทย์นี้นอกจากมีเชื้อฉลาด ๆ แล้ว ยังอาจมีเชื้ออื่น ๆ อีกมากในตัว ซึ่งอาจต้องรักษาให้หายก่อน ถึงจะให้เลือดได้(เพราะนักเรียนแพทย์แต่ละคน คงซุกซนน่าดูในหลายเรื่อง)

          เมื่อถามถึงประวัติแล้ว เขาก็ขอเจาะเลือดดูสักหน่อย เขาจะเอาเลือดที่เจาะไปตรวจดู กรุ๊ป ABO.ชนิด Type เชื้อเลือดของลิง Rh(D) ตรวจดูเชื้อโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ AIDS (มี HIV-1 & 2) , Hepatitis B, & C. Human T-cell Lymphotropic Viruses.          

          จะเล่าถึงกรุ๊ปของเลือดที่คนไข้ชอบถามมาก เลือดก็มีอยู่สี่กรุ๊ป คือ1. A, 2.B, 3. AB & 4. O ถ้าคนให้และคนรับอยู่ในกรุ๊ปเดียวกันก็สบาย รับได้เลย (แต่ยังก่อน มีเรื่องอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยหลายตัว) แต่ถ้าคนละกรุ๊ปกัน และจำเป็นก็ต้องเลือกเอาจากกรุ๊ปอื่นได้ เช่นกรุ๊ป O. คนที่มีเลือด O เขาเรียกว่าคนใจบุญ ใครมาขอให้ได้หมด (เช่นตัวผมเป็นต้น ให้มาหลายทีแล้ว รวมทั้งเงินทองด้วย) แต่จะรับจากคนนอกกรุ๊ป O ไม่ได้ ส่วนกรุ๊ป AB เขาเรียกว่ารับอีท่าเดียว กรุ๊ปไหนเขาให้รับได้หมด ส่วนกรุ๊ป A ก็ต้องกรุ๊ป A นอกนี้ต้องจากกรุ๊ป O เท่านั้น กรุ๊ป B นั้นก็ต้องจาก B และ O เท่านั้นเหมือนกัน

          ส่วนเชื้อเลือดลิง Rh(D) ก็มี บวกกับลบ ในคนธรรมดาคงไม่ร้ายแรงอะไร เพราะก่อนให้เลือด เราก็ทำการ Matching & crossing กันการผิดกรู๊ปอยู่แล้ว แต่ที่เดือดร้อนคือในหญิงมีครรภ์ และตัวเองมี Rh เป็นลบ (เขาเขียนเป็น rh-) และตัวลูกอุตริมีเลือดกรู๊ปเป็นR h+ จะทำให้เลือดในตัวเด็กที่อยู่ในครรภ์ถูกทำลายได้ ตายในท้อง

          ถ้ามีทางเลือก เราก็ต้องให้Type เดียวกัน แต่ก็มียกเว้น คือพวกลบให้บวกได้ ในคนที่ให้เลือดแบบ R h ที่ต่างกันทางบวกและลบ พวกลบให้บวกได้ แต่พวกบวกให้ลบไม่ได้ ฟังแล้วยุ่งจริง ๆ รู้ไว้แค่นี้ก็พอละสำหรับเรื่องของโคตรเราที่เป็นลิงมาก่อน เดี๋ยวจะปวดหัวตาย

          ก่อนให้เลือดนอกจากดูว่า Group หรือ Type เข้ากันได้แล้ว เขาต้องเอาเลือดของคนให้และคนไข้มา Cross-matching กัน ว่าเลือดสองกลุ่มนี้จะเข้ากันได้ไหม มีอะไรที่เกิดการณ์เกินกว่าที่คิดไว้ เพราะมีเรื่องของกรู๊ปน้อย ๆ ที่คิดไม่ถึงเกิดขึ้นได้ ต้องเอาเลือดของทั้งฝ่ายให้และรับมาผสมกัน จนเลือดทั้งสองเข้ากันก็ได้ ก็ใช้ได้

          พวกที่หาเลี้ยงชีพด้วยการขายเลือดก็มีเหมือนกัน ในเมืองไทยสมัยก่อนก็พวกสามล้อ ด้วยความจน ก็ต้องยอมขายเลือดมาแลกข้าวเพื่อเลี้ยงครอบครัวกินกันละ นอกนี้ก็มีนักเรียนแพทย์และนักศึกษาหลาย ๆ คนก็ต้องทำแบบนี้ เมื่อหมดเงินกินข้าวหรือต้องจ่ายค่าหนังสือ หรือค่าเทอมก็ต้องไปขายเลือดที่ห้องเลือด จนพยาบาลจำหน้าได้ แล้วก็เริ่มสงสารและเห็นใจ เลยช่วยเกื้อหนุนส่งเสียจนจบแพทย์หรือการศึกษา ตอนหลังก็ได้แต่งงานกันหลายคู่ด้วยความเห็นใจกันอย่างนี้แหละครับ อย่าได้เยอะเย้ยเขาเลย คนที่ไม่เคยจนถึงที่สุดต้องมาขายเลือดกัน ก็คงไม่เคยรู้รสชาติมันเป็นอย่างไรแหละครับ

          จำนวนเลือดที่เขาจะให้ได้ก็แค่ 450 cc. หรือ Pint ไพนท์ เท่านั้น และให้ได้แค่ทุก 56 วัน    มีเพื่อนผม เล่นขายกันทุก ๆ สองสามเดือนจนหน้าซีดก็มี

ลูกสาวผมเขาจะไปให้เลือดทุก ๆ ปี อาจจะสองครั้งต่อปีก็ได้ ไม่ได้เงินหรอกครับ อาจได้ใบชมเชยจากเร็ดครอสเท่านั้น ส่วนผมหรือครับ ขี้ขลาดครับ แต่ก็โดนมาหลายครั้งแล้วเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไร ผมก็ได้เสื้อคอกลมตรา Red cross ที่ลูกสาวได้รับเป็นการสมนาคุณ

          เลือดที่เขาได้มานั้น นอกจากให้สด ๆ จำนวนที่ให้ก็ต้องแล้วแต่จำนวนที่คนไข้นั้น ๆ ต้องการ อย่างเลือดออกมาก ๆ อาจจะให้ถึง สิบหรือยี่สิบไพนท์ก็ได้ นอกจากให้เลือดอย่างสด ๆ แล้ว เขาอาจแปลงรูปเป็นอย่างอื่นก็ได้

          Whole blood ก็คือเลือดสด ๆ ทั้งหมด

          Red blood cellsเขาแยกเอาแต่เม็ดเลือดแดงเท่านั้น เพราะคนไข้ต้องการแต่เม็ดเลือดแดงหรือ Hemoglobin เท่านั้น เขาไม่ต้องการน้ำเลือดหรือเม็ดเลือดขาว หรือเม็ดเลือดทำให้เลือดกรัง Clot

          Frozen-Thawed RBCs เขาไปทำให้เลือดที่จะให้ ใช้ในคนไข้เลือดกรุ๊ปไหนก็ได้

          WBC-depleted RBCs เลือดพวกนี้เขาจะล้างเอาเม็ดเลือดขาวออกหมด เพื่อเวลาให้เลือดคนไข้จะได้ไม่เกิดอาการแพ้ จนหนาวสั่น ที่เรียกว่า Transfusion Febrile reaction

Washed RBCs ผลของเลือดพวกนี้เขาจะล้างเอาเม็ดเลือดขาว เม็ด Platelets ที่ทำให้เลือดเกาะกรัง สิ่งเจอปนในน้ำเลือดที่เรียกว่า Plasma เช่นตัวต้านทานของการแพ้ ที่สำคัญคือตัว Immunoglobulin A

Platelet concentration ในน้ำเลือดจะถูกล้างเอาทุกอย่างออก เว้นแต่ตัวทำให้เม็ดเลือดที่ทำให้เลือดหยุดไหลได้ Clotting ที่เรียกว่า Platelets เอาไว้ใช้กับคนไข้ที่เป็นโรคเรียกว่า Thrombocytopenia ซึ่งมีเม็ดพวกนี้น้อยมาก จะเลือดออกได้ง่าย และไม่หยุดด้วย หรือคนไข้ที่ต้องผ่าตัดเสียเวลานาน ๆ ตัวเม็ดเลือดจะถูกทำลายมาก                                                                                                                                                                                

                                                                                            อ่านต่อ ตอนที่ 2            

 

   หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2006 Chulalongkorn University Alumni Association of California