ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

                     คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

                                                                                   ตอนที่ 1                                                                                                                                                                                          นพ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

  

วันของโคลัมบัส

          ตอนผมไปเที่ยวเมืองเจนัว Genoa ทางเหนือตะวันตกของประเทศอิตาลี ลูกสาวเรียกให้พ่อขึ้นไปดูบ้านหลังหนึ่งบนเนินเตี้ย ๆ ข้างถนน ผมมองเห็นแล้วก็พาลให้นึกอยากปัสสาวะขึ้นมา เพราะลักษณะมันมันเหมือนห้องน้ำดี ๆ ที่ตั้งอยู่ข้างถนนเสียจริง ลูกสาวเขาเลยรีบบอกว่านี่เป็นบ้านเกิดของคริสโตเฟ่อ โคลัมบัส นักผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ของโลกคนหนึ่ง

          อีกครั้งเมื่อผมไปเที่ยวเมืองเซวิว ประเทศสเปน ได้ไปเยี่ยมโบสถ์ที่สวยที่สุดของเมืองนั้น เรียกว่า Seville Cathedral ในห้องโถงใหญ่มีอยู่มุมหนึ่งมีรูปปั้นของคนสี่คนแบกโรงศพอยู่ ไม่กระดิกเลย ก็มันจะกระดิกได้ไง เพราะเป็นรูปปั้นทองบรอนซ์ ไกด์เขาบอกว่ามันเป็นหีบศพของโคลัมบัส ผมเห็นแล้วก็ให้แปลกใจว่ามันเป็นพิธีอะไรกันแน่ เอาศพไปแบกเอาไว้แล้วไม่ยอมฝัง แบกหามอยู่นั้นแหละชั่วนาตาปี ถ้าเผื่อนายโคลัมบัสอยากจะลุกขึ้นไปปัสสาวะ ก็คงต้องก้าวออกจากโลงศพ มีหวังตกจากหีบศพที่เขาแบกหามอยู่ เตี้ยเสียเมื่อไหร่ มีหวังหล่นลงมาขาหัก เลยต้องเป็นผีขาเป๋ไปอีกชาติหนึ่งเสียฉิบ

          จบละครับ เรื่องเกิดและตายของโคลัมบัสก็มีอยู่แค่นี้ ไม่เห็นมีอะไรพิสดารตรงไหนเลย เกิดก็เกิดในบ้านหลังเล็ก ๆ ของพ่อที่เป็นช่างทอคนหนึ่งในเมืองเจนัว ปี 1451 ตายก็ตายเงียบ ๆ นอกประเทศของตัวเองปี วันที่ 20 เดือนพฤษภาคม 1506 อายุ 55 ปี แบบชาวอิตาเลี่ยนด่างด้าว ในประเทศสเปนคนหนึ่ง ไม่มีราชาหรือผู้มีชื่อเสียงมาร่วมพิธีศพด้วย ก็อย่างนี้แหละครับ ตอนชะตาตก สุนัขที่ไหนก็ไม่มาเหลียวแล ปลงเสียเถิดอย่าไปคิดมากเลย

          เรามาพูดถึงตอนกลาง ๆ ในชีวิตของโคลัมบัสดีกว่า เพราะมันเกี่ยวกับความสำคัญของโลก และโดยเฉพาะเราชาวกะเหรี่ยงที่ยังอยู่รับใช้เงินดอลล่าร์ในประเทศนี้  ด้วย เพราะพ่อแม่โคลัมบัสมันจน ตอนเด็กก็เลยไม่ได้ร่ำเรียนอะไรมากมาย ไม่เหมือนสมัยนี้มีโรงเรียนกวดวิชา เรียนสามปีจบเตรียมอุดมยังได้ แล้วก็เข้ามหาวิทยาลัย ด้วยเมืองเจนัว Genoa อยู่ที่ริมทะเลมีเรือเดินทะเลมาทำการค้าขายกันอยู่มาก หนุ่ม ๆ ก็อยากท่องทะเล เพราะยังไม่รู้ว่ามันจะลำบากขนาดไหน เพราะไม่เคยลงเรือออกทะเลมาก่อน คิดแต่ว่ามันเท่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ก็เลยสมัครเป็นชาวเรือล่องทะเล

คงเหมือนดาราหนังไทยที่เมืองไทยสมัยนี้ ระยะหนึ่งต้องเก็บเงินเพื่อไปเรียนต่อภาษาต่างประเทศที่อเมริกาหรือออสเตรเลียสามเดือน มันเท่ดี กลับบ้านจะได้เนื้อหอมติดกลิ่นรักแร้ของฝรั่งมาด้วย ระหว่างทำงานก็ได้ท่องเที่ยวไปในทะเลต่าง ๆ ในแถบทะเลเมดีเตอเรเนี่ยน Mediterranean แล้วจนได้โอกาสออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติค ทางช่องแคบจิบรอลต้า Gibraltar Strait ด้วยความซวย เรือที่ไปด้วยถูกโจรสลัดปล้นแล้วเผาทิ้งแถบใกล้ชายฝั่งประเทศโปตุเกศ ตัวเองรอดพ้นมาโดยการเกาะท่อนไม้ลอยมาติดฝั่งถึงได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศโปรตุเกส โดยเฉพาะเมืองหลวงลิสบั้น Lisbon ได้ฟังถึงประวัติและเห็นเรือของนักผจญภัยอันยิ่งใหญ่หลายคนในสมัยนั้น ที่เกี่ยวกับการเดินเรือ ทำให้เกิดความเลื่อมไสมาก และได้เจอพี่ชายที่เป็นคนเขียนแผนที่การเดินเรือ ชื่อ Bartolome ถึงได้เรียนวิชาการทำแผนที่การเดินเรือ ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญที่ช่วยในการเดินเรือครั้งสำคัญในตอนหลัง ระหว่างนั้นเขาได้แต่งงานกับลูกสาวของข้าหลวงชาวสเปนซึ่งอยู่บนเกาะกลางมหาสมุทรแอนแลนติค และด้วยเป็นคนที่ฉลาด จากความรู้การทำแผนที่และการสังเกตสังกาตอนอยู่บนเกาะนี่ ทำให้เขาเรียนรู้ถึงทิศทางลมในฤดูต่าง ๆ ระยะทางของแต่ละชายฝ่าย แน่นอนความรู้ที่เขาเรียนรู้เหล่านี้เขาเก็บไว้เป็นความลับที่สุด หลายครั้งเขาได้เดินทางกลับไปที่อิตาลีและได้เจอแพทย์ Paolo Toscanelli ซึ่งชอบวิชาทำแผนที่ด้วย ซึ่งมีความคิดและความเข้าใจที่ได้เรียนรู้จากแผนที่ที่รวบรวมได้ว่า โลกนี้มันกลมเหมือนลูกบอล เลยได้บอกความลับให้โคลัมบัสรู้ว่า ถ้าเดินเรือไปทางตะวันตกในมหาสมุทรแอตแลนติค ในที่สุดก็จะเจอประเทศจีน แทนที่จะต้องไปทางตะวันออกเหมือนมาโคโปโล และระยะทาง ราว ๆ แค่ 3500 ไมล์เท่านั้น (ความจริงมันถึง 11,600 ไมล์)

          ซึ่งสมัยนั้นมีนักผจญภัยและนักเดินเรือที่เป็นฮีโร่อยู่หลายคน โดยเฉพาะในประเทศโปตุเกส การเดินเรือของโปตุเกสได้รุ่งเรืองขึ้นภายใต้การนำและอุปถัมภ์ของเจ้าชายเฮนรี่ Prince Henry the Navigator ฮีโร่ที่สำคัญคือกัปตัน เซา Cao ที่สามารถแล่นเรือจนเกือบสุดปลายแหลมของทวีปอาฟริกา และได้ลงต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตร เกือบ 21 ดีกรี ซึ่งยังไม่เคยมีใครเคยลงต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตร ลูกเรือต่างก็กลัวกันเพราะคำเล่าลือกันว่าถ้าถึงระดับนี้ ทุกอย่างจะถูกแดดเผาไหม้เป็นขี้เถ้ากันหมด เพราะความกลัวบวกกับอาหารชักจะขาดแคลน กลัวลูกเรือจะก่อกบฏขึ้นเลยต้องกลับบ้านที่ลิสบัน

          ฮีโร่คนต่อมาก็ Bartolomeu Dias ซึ่งสามารถนำเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮป เป็นคนแรก ซึ่งเป็นแหลมปลายสุดทางใต้ของทวีปอัฟริกา ตรงปลายแหลมนี่มีลมแรงมาก

คนต่อมาก็คือ Vasco Da Gama วาสโก้ดากามา นำเรือไกลไปจนถึงเมือง Calicut ทางฝั่งตะวันตกของอินเดีย และได้ไปซื้อเอาเครื่องเทศ เครื่องหอม ผ้าแพร เครื่องทองเหลือง เครื่องไฟฟ้า เครื่องวีดีโอ และเทปหนังจีนของไท้เส็ง และละครคณะกันตนาที่เขาขโมยอัดขายกัน เครื่องคอมพิวเตอร์ (ขอโทษ ตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้าหรอกครับ เขียนเพลินไป)

          เรื่องที่เล่า ๆ กันไป โดยมากจะเป็นการสรรเสริญถึงความกล้าหาญและยิ่งใหญ่ของบิ๊กทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองก็ได้รับการต้อนรับที่ยิ่งใหญ่ มีทั้งเงินทองและตำแหน่งขุนนางรออยู่ เหมือนนักมวยเหรียญทองโอลิมปิคของเมืองไทยปานทั้งแหละ ได้เลื่อนยศเป็นร้อยตรีร้อยโทกันเป็นแถว พลอยทำให้จิตใจของโคลัมบัสหลงระเริงเคลิ้มฝันไปกับวีรกรรมทั้งหลายเหล่านี้

          แต่เรื่องที่น่ากลัวในการเดินทางผจญภัยโดยมากมักจะไม่ค่อยเล่ากัน และกัปตันจะไม่จดลงไว้ในบันทึกการเดินเรือ หรือถ้าตายไปทั้งลำเรือเลย ก็คงไม่มีใครรู้หรือเอามาเล่าให้ฟังกัน คือแทงศูนย์ไป

.

                                                                                        อ่านต่อ ตอนที่ 2  

 

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us

 

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2005 Chulalongkorn University Alumni Association of California