สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                    Common Cold and Influenza

.                                                                                   ตอนที่ 2

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

 

ไข้หวัดใหญ่คน    

          Influenza  ถึงเวลาเจ็บตัวอีกแล้ว ตอนปลายปี คือราว ๆ เดือนตุลาคมจนถึงธันวาคม คือการฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่ ถ้ามีเงินก็ไปตามร้านขายยาใหญ่ ๆ เขาจะฉีดให้คิดแค่ยี่สิบห้าเหรียญเท่านั้น ต้องฉีดทุกปีละครับ เขาจะแนะนำแต่คนที่อายุมากกว่าห้าสิบปี หรือเด็กต่ำกว่าสองขวบ พวกคนทำงานเกี่ยวกับคนไข้

การที่ต้องฉีดยาทุกปี เพราะว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ดังนั้นยาที่ผลิดเมื่อปีที่แล้วก็ใช้ไม่ได้ต้องทิ้งไป คลีนิคผมสั่งมาเกินตอนปีที่แล้ว ก็ต้องทิ้งไป

          วัคซินอันใหม่นี้จะมีเชื้อที่เขาสำรวจและกะว่าอาจจะระบาดได้ โดยการได้ข้อมูลจากแพทย์ทั่วโลกแลกเปลี่ยนกัน กะว่าจะมีอยู่สามตัวที่อาจจะระบาด ขอบอกแต่ชื่อก็แล้วกัน อย่าซักถามรายละเอียด เดี๋ยวผมก็ต้องอธิบายสามวันสามคืนไม่จบกัน สามตัวนี้คือ Influenza A H1N1 กับ A H3N2 และ Influenza B ทุกปีก็สามตัวนี้เป็นหลัก แต่จะเปลี่ยนสภาพบางอย่างและความรุนแรงต่าง ๆ กัน ตามการเปลี่ยนสภาพ เพราะมันมีลูกหลานอีกมากมายในสามกรู๊ปนี้  ปี 2007 นี้ก็เปลี่ยนไปอีกที่ต้องป้องกันตามสถิติมีอยู่สามตัวที่อาจเกิดได้มากที่สุด  A/Solomon Island/3/2006(H1N1), A/Wisconsin/67/2005, and B/Malaysia/2506/2004 เห็นหรือยังมันก็หมุนเวียนอยู่ใน สามกรู๊ปนี้ แต่ปีนี้ไม่มีกรู๊ป C จำชื่อแล้วแค่นั้นเอง แต่ไปคุยให้คนอื่นฟังก็เท่ดีไม่เสียหายอะไร

การแพร่เชื้อของไวรัสพวกนี้ ก็โดยน้ำมูกน้ำลายของคนไข้ เข้าไปติดกับเยื่อทางจมูกทางปาก เช่นจากการไอที่มีฝอยละอองน้ำมูกน้ำลาย การจับมือคนป่วยโรคนี้ก็ติดได้เหมือนกัน แต่เชื้อเข้าได้ทางผิวหนังของมือ และเพราะสันดานเรามันชอบถู แคะ แกะ เกา พอมือติดเชื้อโรคเราไปเกาจมูกเช็ดตา แคะขี้ฟัน เพราะคันหรือความเคยชิน โดยไม่รู้ตัว มันก็เข้าเยื่อจมูกเยื่อตา เยื่อปากจนได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของร่างกาย และก็เป็นการรับรองว่าจะเป็นโรคแน่

อาการของหวัดธรรมดากับไข้หวัดใหญ่ก็ต่างกัน แต่ไข้หวัดใหญ่มักจะมาภายในชั่วคืน มักจะปวดหัวมาก ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้สูงถึง 102 degree สามถึงสี่วัน ปวดเมื่อยตัว อาจนานถึง สองสามอาทิตย์ ไอ และแน่นหน้าอกนี่เป็นกันมาก ส่วนอาการจาม น้ำมูกไหล เจ็บคอไม่ค่อยเป็นกันตอนแรก

ดังนั้นมันเป็นการยากที่จะแยกโรคหวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่สำหรับหมอ แต่หมอมักจะรู้เพราะคนไข้แห่มาหาช่วงนั้น โดยมีอาการคล้าย ๆ กัน เพราะมันกระจายในวงกว้างและอาการหนักกว่าหวัดธรรมดา เรียกว่า Epidemis หรือ Pandemis กระจายได้เกือบหลายประเทศ

ถ้าอาการของไข้หวัดใหญ่ไม่รุนแรง ก็รักษาโดยการพักผ่อน ยาพวกที่สำหรับแก้หวัดธรรมดา ความรุนแรงจะเป็นได้เมื่อมีเชื้อโรคแบคทีเรียเท่านั้นเช่นโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นอาการที่รุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลกันละ

 ถ้าไม่รักษาและร่างกายแข็งแรง อาการจะดีขึ้นหลังสี่ถึงห้าวัน แต่จะมีไอแห้ง ๆ ตามมาสองสามอาทิตย์ หมอตรวจดูก็มักจะเห็นคอแดง ตาอาจแดง หน้าสีชมพูเพราะไข้ น้ำมูกใส อาการ เป็นหนึ่งถึงสองอาทิตย์ ช่วงที่ไอแห้ง ๆ นี้แหละ เป็นช่วงการแพร่เชื้อดีนัก ดังนั้นที่โรงเรียนหรือที่ทำงานเขาจะให้หยุดเรียนหรือทำงานกัน เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อแก่ผู้อื่น ไม่ใช่ให้พักผ่อนเล่น ๆ หรือไปลาสเวกัสกัน เพื่อไปแพร่เชื้อที่นั่น ยาที่กินก็เหมือนของยาแก้หวัดนั่นแหละ มีข้อต้องระวังมาก ๆ  และมาก ๆ (สามครั้ง) อย่าให้เด็ก ๆ กินยาแก้ไข้พวก แอสไพริน Aspirin เด็ดขาด อาจเกิดอาการสมองบวม ทำให้พิการทางสมอง หรือตายได้ จาก Reye’ syndrome ไรส์ซินโดรม

ส่วนถ้าโรคไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดมีอาการของมันรุนแรงมาก จะเกิดหลังจากติดเชื้อมาสัก 1-4 วัน แล้วอยู่ๆ มันก็มีเชื้อแบคทีเรียปนด้วย หรือตัวมันเองกินลึกและแทรกเข้าทุกช่องลมของปอด จะมีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัว หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน อาจมีท้องเดินด้วย ไม่อยากทานอาหาร มีเจ็บคอนิดหน่อย พร้อมกับไอแรงขึ้น มีน้ำมูกไหล อาการจามมักจะน้อย หมออาจให้ยาพวก Tamiflu, Ramitadine Rambavirin และยาปฏิชีวนะ อย่างแรงหน่อยคือพวก Keflex or Cipro ด้วยต้องมีใบสั่งแพทย์

แต่ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม เพราะไอมาก เจ็บหน้าอกมาก หายใจไม่สะดวก ถ้ารีบหาหมอ เขาต้องรักษาเชื้อแบคทีเรียและยากำจัดการแพร่ขยายทางหลอดลมและถุงลม นอกจากยาสมัยใหม่ข้างต้น เดี๋ยวนี้มียาพ่นเข้าทางปอด เรียกว่า Ribavirin & Neuraminidase inhalators ถ้ารักษาไม่ดี อาจกลายเป็นโรคปอดเรื้อรังในอนาคตได้ ถ้าเด็กมักจะทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ Acute Sinusitis หรือหูชั้นกลางอักเสบ Acute Otitis Media ถ้าคนไข้ที่เป็นโรคภูมิต้านทานน้อยอยู่แล้ว เช่นโรคเอดส์ โรคหัวใจ หรือปอดเรื้อรัง Chronic Obstructive Pulmonary Disease COPD ควรจะหาหมอไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้คนที่เป็นโรคพวกนี้ถึงต้องฉีดยาป้องกันไว้ก่อนเพื่อน

โรคระบาดจะกว้างใหญ่หรือไกลก็มีคำเลือกใช้

Endemic ก็หมายถึงการระบาดในตำบล คือเกิดแถวที่เป็นแหล่งนั่นแหละ ไม่ไปไหนไกล เช่นบ่อน้ำของตำบลที่สกปรก คนทั้งตำบลก็ท้องเสียได้ ส่วนตำบลอื่นที่ไม่กินน้ำในบ่อน้ำนั้นด้วยก็ไม่ระบาด

Epidemic ก็ต้องไกลออกไปหน่อย อาจทั้งจังหวัดหรือประเทศก็ได้ เช่นโรคมาเลเรีย โรคซิฟิลิส โรคไข้หวัดใหญ่  กาฬโรค ก็แพร่ขยายออกโดยพาหะ เช่นยุง หนู นก คนเดินทางในแหล่งชุมนุม นั้นไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ไกล ๆ  

Pandemic เป็นการแพร่เชื้อไปทั่วโลกเลยทีเดียว เช่น โรคห่าจาก กาฬโรค Plague ไข้หวัดใหญ่ Spanish Flueตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  เป็นต้น ซารส์ เอ็ดส์ ตอนนี้ก็อาจเป็นไข้หวัดนก เพราะมนุษย์เดี๋ยวนี้มันเคลื่อนที่ เดินทางกันมากมาย ไกล และอย่างรวดเร็ว ทางเรือ ทางรถยนตร์ ทางเครื่องบิน แม้จะมีด่านตรวจโรคกักกันเอาไว้ แต่อาจมีผู้เล็ดลอดผ่านไปได้ หรือคนไข้ยังไม่ได้แสดงอาการ เลยให้ผ่านพ้น แม้ตัวคนไข้จะมีโรคอยู่ในตัวแล้ว เช่น โรคซาร์ส โรคเอดส์ โรคไข้หวัดใหญ่

     ในตอนปี 1918 มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไปทั่วโรคอย่างรวดเร็ว แม้สมัยการเดินทางไม่ได้สะดวกและรวดเร็วอย่างนี้ โดยมากไปทางเรือข้ามมหาสมุทรกัน มันยังไปไกลถึงทั่วโลก

     พูดถึงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ดู ๆ ไปมันก็ไม่น่าจะอันตรายเลย เพราะคนส่วนมากที่ไม่ไปฉีดยาป้องกัน ก็ไม่เห็นตายนี่ มันเป็นความเข้าใจผิดของคนหนุ่ม ๆ สาว ๆ อ้ายที่ตายไปมากมายแล้ว หรือกลายเป็นโรคปอดเรื้อรังไปทั้งชาติ อาจจะไม่มีใครเล่าลือกัน รู้ แล้วเรื่องก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว หมดปีหนึ่ง ๆ  จนไม่มีใครจำได้ แล้วปีต่อมาก็มาอีก เป็นอยู่อย่างนี้วนเวียนและจำเจ น่าเบื่อ แต่ตอนพ่อแม่หรือคนที่รักตายก็คงจำกันได้และกลัวมันจะมาอีก

     ถ้าไม่เชื่อความร้ายกาจของมันก็จะเล่าให้ฟัง ไม่ต้องเสียเวลาไปค้นคว้าหาเอง เรื่องมันเกิดขึ้นตอนเดือนสิงหาคม ปี 1918 ตอนนั้นอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1913-1919) มันเริ่มระบาดทางยุโรป แล้วก็ไป อเมริกา อาฟริกา เอเชีย แม้กระทั่งเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค คือพวก ชาวซามวน

         โรคระบาดครั้งนั้นเรียกว่า Spanish flu มีคนตายทั้งโลกจากโรคนี้ สองร้อยล้านคน ภายในหกเดือน คือตายมากกว่าคนที่ตายจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึงสามเท่า

แปลกอยู่อย่าง คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดแก่ ชายหนุ่ม และเป็นทหาร  และตายอย่างรวดเร็ว เช่นมีอาการ หมดแรง ปวดเมื่อยตามตัว ไข้ขึ้น หายใจฝืด เป็นไข้ตอนเช้า แล้วก็ตายตอนเย็นนั้น มีการเล่ากันว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นไข้ตอนเช้า แล้วจะไปหาซื้ออาหาร ก็ล้มตายกลางถนน ส่วนมากตายจากระบบหายใจล้มเหลว หรือ Pneumonia เพราะน้ำมันท่วมทุกถุงลมจนหายใจไม่ออก ตายทันที ส่วนที่ตายช้าหน่อยก็ตายจากเชื้อโรคแบคทีเรียแทรกแซง ทำให้เกิดโรคปอดบวม จากเชื้อแบคทีเรีย มันซวยหน่อยตอนนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ ส่วนคนแก่และเด็กตายน้อยหน่อย เขาเชื่อว่าเพราะคนหนุ่มอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เช่นในสนามรบ ในโรงทหาร เพราะเป็นพวกคนหนุ่มเสียหมด

เชื้อหวัดตัวที่เกิดการระบาดใหญ่ครั้งนั้นเกิดจากตัวที่แตกแขนง Variant จากเชื้อ H1-N1 ที่สันนิษฐานว่าที่ตายเร็วเพราะเชื้อโรคตัวนี้มันแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและมากมาย ทำให้การทำลายเนื้อเยื่อ และน้ำซึมเข้าถุงลมหายใจมากมายและรวดเร็วในปอด. เพราะปอดเป็นสนามรบของเชื้อตัวนี้ เมื่อหายใจไม่ทันก็ขาดอ๊อกซีเจ้น ตายได้ทันที

การระบาดครั้งนั้นทำให้ทั่วประเทศอเมริกาหยุดชะงักไปทันที โรงงานหยุดทำงาน โรงเรียนปิด ไม่มีการเข้าโบสถ์ สถานบันเทิงหยุดหมด ยกเว้นแต่บาร์เหล้าก็ยังขายอยู่ เพราะพวกนี้เชื่อว่าเหล้ารักษาได้ทุกโรค ทุกคนที่ออกนอกบ้านต้องใส่ผ้าปิดปากและจมูก แต่ก็ไม่ทำให้มันหยุดได้ แล้วอยู่ ๆ มันก็ซาไปแล้วก็หยุด ที่การระบาดมันหยุดไป เขาว่าเพราะพวกที่ร่างกายสู้มันไม่ไหว มันไม่มีอีกแล้ว หรือคนที่อยู่ไกลจากหมู่ชุมชน เหมือนกับยมบาลปิดบัญชี เพราะเต็มหมดทุกเล่มแล้ว แถมนรกหรือสวรรค์มีคนล้นมากไป รับไม่ไหว

ที่แท้แล้วตัวไข้หวัดใหญ่มันหยุดไปเอง ด้วยสาเหตุที่ไม่รู้ หรือ เพราะบุคคลที่อ่อนแอและร่างกายติดเชื้อได้ง่ายก็ตายเสียหมด ส่วนที่เหลือก็สร้างความต้านทานขึ้นกับโรคนี้จนอยู่ได้ ประการสุดท้ายก็เพราะมีการป้องกันตัวมากขึ้น โดยมีการปิดปากปิดจมูก อยู่ห่างจากคนที่เป็นโรค และเริ่มการไม่ใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดร่วมกันและที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันมีการใช้ผ้าปิดปาก หรือทันสมัยยิ่งขึ้น คือการใช้กระดาษทิชชิว เมื่อสั่งน้ำมูกน้ำลายแล้วก็โยนทิ้งถังขยะไป ไม่ต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือเช็ดตัวร่วมกับคนในครอบครัวอีก

ขอเสียเวลาผู้อ่านนิดหน่อยเรื่องเกี่ยวกับการทำยาฉีด ป้องกันไข้หวัดใหญ่ การค้นพบและทำวัคซินนี้ก็เมื่อปี1941เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง (สงครามเริ่มเดือนกันยายน 1939 ผมจำได้แม่น เพราะเป็นเดือนและปีที่ผมเกิดพอดี ปีซวยครับ ผมก็นับว่าเป็นตัวซวยด้วย)

ก่อนจะทำวัคซินก็ต้องได้ข้อมูลมาก่อนว่า ในสัตว์เลี้ยงอะไรที่กำลังมีโรคหวัดใหญ่ระบาดอยู่จากทั่วโลก แต่สถานที่สำคัญ คือต้องได้จากประเทศจีน เพราะมีสัตว์เลี้ยงเยอะ และคนจีนชอบเลี้ยงไว้ตามบ้าน คือคนและสัตว์ติดเชื้อกันเองได้ง่าย จากข้อมูลเหล่านี้ เราก็ได้ไวรัสที่คาดคะเนว่า อาจจะระบาดได้ สามตัว(จาก หมู) ที่สำคัญคือไวรัสไข้หวัดใหญ่ กรุ๊ป A ในไทป์ Type H โดยมากก็ระหว่าง H1ถึง H3 นอกนี้ก็มี  กรู๊ป B และกรู๊ป C ในแต่ละไทป์ยังมีการผันแปรมากมาย

เมื่อได้ตัวแปรผันสองตัวในกรุ๊ป A และไทป์ H สองตัวแล้ว ก็แถมตัว กรุ๊ป B อีกหนึ่งตัว ส่วน กรู๊ป C นั้น เป็นไม่บ่อยนัก เมื่อได้ตัวเชื้อก็เอามาฉีดเข้าในไข่ไก่ จะต้องเป็นไข่ที่มีตัวด้วย อายุสิบเอ็ดวัน แล้วก็อบไว้เจ็ดวัน เมื่อครบกำหนดก็ดูดเอาไข่ขาวที่เต็มไปด้วยเชื้อไวรัสออกมาใส่ในภาชนะ ด้วยกรรมวิธีสารเคมี แล้วก็ชะล้างด้วยสารเคมีทำให้ความรุนแรงในการเกิดโรคของเชื้อหมดไป เรียกว่า Atenuated virus อะเทนนูเอตเตด ไวรัส หรือไวรัสที่ไม่มีสมรรถภาพ (เหมือนคนแก่เหี่ยว ๆ นั่นแหละ) เราก็เรียกว่า Vaccine วัคซิน แต่มีตัวโปรตีนเป็นตัวกระตุ้นเท่านั้น เมื่อร่างกายเราได้รับการฉีด วัคซิน ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสเป็นๆ อยู่ แต่ไม่มีสมรรถภาพที่จะทำให้เกิดโรค

ปรกติร่างกายเราพอพบโปรตีนของเชื้อไวรัสไม่ว่าตัวไหน ก็จะสร้างตัวต้านทานขึ้นมา เรียกว่า Antibodies แอนตี้บอดี้ส์ มันกินเวลาสองอาทิตย์ที่จะมีมากพอสำหรับร่างกาย แล้วตัวไวรัสที่เหี่ยว ๆ พวกนั้นก็ถูกทำลายไปสิ้น เหลือแต่ตัวต้านทานรอท่าอยู่

เมื่อไม่มีโรคติดต่อภายในระยะเวลาหนึ่ง ตัวต้านทานก็จะค่อย ๆ หมดฤทธิ์ไปอาจกินเวลาสี่ห้าเดือน แต่ถ้าเกิดมีเชื้อโรคไวรัสที่กะเอาไว้ว่าว่าจะเกิดขึ้น ในระหว่างนั้น ตัวต้านทานก็จะเข้าทำลายมันหมด ก็ไม่เกิดโรคเกิดขึ้น ถ้าไม่ฉีดยาก่อนสองอาทิตย์ แน่นอนก็ป่วยเสียหนึ่งถึงสองอาทิตย์

คนที่กลัวฉีดยา เดี๋ยวนี้ก็มีแบบวัคซีนพ่นจมูกแทน แต่แน่นอนแพ้มากหน่อย และประกันภัยของคุณจะไม่ยอมจ่าย จ่ายเองนะครับ

                                     

            กลับไป ตอนที่ 1                                                                         อ่านต่อ ตอนที่ 3

                                                                          

                                                         กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน    

    

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California