สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                                                ยาสูบ

                                                                   ตอนที่ 2

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

  

สารนิโคตินมันทำให้คนสูบกระปรี้กระเปร่า และเกิดจินตนาการไปกับควันบุหรี่ได้ ด้วยตัวนิโคตีนมันไปลดสาร Mono amine oxidase เพราะอ้ายสารตัวนี้ไปคอยทำลายสารที่จะทำลายสาร โดปามิน Dopamine อีกต่อหนึ่งด้วยสารโดปามินนี้มันคอยกระตุ้นประสาทให้ทำงานและขยัน เมื่อมีโดปามินมากขึ้นประสาทก็ตื่นตัวขึ้น แต่ถ้าสูบหรือใช้ยาสูบมาก ๆ และนาน ก็ทำให้โดปามินลดลงมาก ก็เลยมีอาการเพลียและง่วงนอนด้วย จากนั้นการกระตุ้นก็น้อยลง จนหยุด กล้ามเนื้อคลายตัวลง เช่นกล้ามเนื้อของหัวใจ เลือดก็จะไหลช้าลง ทำให้อ๊อกซีเจ้นที่จะไปสู่สมองและร่างกายน้อยลง คนสูบก็คลายความเครียด คือเกิดสบายอารมณ์แล้วก็คลายความเครียดที่หลัง นี่คือสาเหตุที่คนต้องการสูบบุหรี่

ไหน ๆ ก็ถูกผมหลอกให้อ่านเรื่องยาก ๆ ก็จะอธิบายต่อ ว่าโดปามินนี้ ที่แท้ก็เป็นสารพวก Epinephrine หรือยากระตุ้น เหมือนพวกยาบ้า นิโคตีนจะคอยกระตุ้นให้โดปามินออกมาเรื่อย ๆ และจำนวนมากด้วย เลยทำให้หูตาสว่าง แต่ถ้าใช้โดปามินหมอก็หมดแรง จำอะไรไม่ได้ ความคิดสับสนไปหมด

ด้วยเพราะนิโคตินทำให้เส้นเลือดหดตัว ความดันก็สูง กล้ามเนื้อหัวใจก็ต้องบีบแรง นานเข้าก็ทำให้เส้นเลือดตีบตันได้ง่าย โดยเฉพาะเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลยพิการ Myocardial Infarction นอกนี้ยังทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดปรกติ เรียกว่า extra heart beat คือมีการเต้นของหัวใจนอกกติกาเข้ามาแทรกเป็นชุด ๆ เลย ถ้ามีการเต้นระบบมาก ๆ คนสูบจะรู้สึกหัวใจเต้นหวิว ๆ และหายใจอึดอัด ถึงกับมีอาการเป็นลมได้

เห็นหรือยังครับยาสูบและยาบ้า Amphetamine ก็ทำหน้าที่เหมือนกัน แต่ทำไมดูดยาสูบไม่ผิดกฎหมาย ก็เพราะยาสูบมีแรงกระตุ้นน้อยกว่ายาบ้ามาก และคนเขียนกฎหมายก็มักจะเกี่ยวข้องมีเอี่ยวกับโรงานยาสูบด้วยซี เขาว่ากฎหมายห้ามสูบกัญชาก็ถูกผลักดันโดยเงินของบริษัททำบุหรี่นั่นเอง เพราะถ้าให้สูบกัญชา ยาสูบก็ขายตกทันที

ส่วนพี่น้องกลุ่มยาสูบนี่ก็มีสารมีประโยชน์เหมือนกัน คือ Nicotinic acid และ Pyridoxine B6 มีโครงสร้างของโมเลกูลคล้าย ๆ กัน แต่กลับทำหน้าที่บำรุงร่างกายเสียนี่

กรดนิโคตินนิคนี้มันมีชื่อคล้ายนิโคตินมาก เขากลัวเสียชื่อเสียงของมัน และอาจเรียกผิดก็ได้ เลยเปลี่ยนชื่อให้สวยหน่อย เป็น Niacin ไนอาซิน สารตัวนี้นับว่าอยู่ในกลุ่มของวิตามินบี ปรกติในคนเอเชียจะไม่ค่อยมีโรคนี้ แต่จะเป็นมากในชาวอินเดียนแดง เพราะพวกนี้กินแต่ข้าวโพด ซึ่งไม่มีสารไนอาซินอยู่ เลยเป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า Pellagra เกิดเป็นโรคผิวหนัง Dermatitis ปากเปื่อย เป็นแผล ผิวหนังแห้ง เป็นขุย ๆ , Diarrhea ท้องเดินเรื้อรัง และสมองเสื่อม & Dementia ความจำเสื่อม

โรคนี้รักษาโดยให้สารไนอาซินแบบ Nicotinamide อาการก็จะหายได้ นี่คือการขาดไวตามินตัวนี้

ส่วนไนอาซินนี้ ( Nicotinic acid) เขายังใช้ในการักษาโรคไขมันสูงในเลือดอีกด้วย Hypercholesterolemia

ในโรคไขมันสูงนี้ เขาจะแบ่งตัว Cholesterol คอเลสเตอรอลเป็นสองชนิด คือชนิด ความแน่นต่ำ Low density LDL & Very low density VLDLชนิดนี้เป็นชนิดเลว กับชนิดความแน่นสูง High density HDL เป็นแบบดี

การให้ไนอาซิน Nicotinic acid แค่วันละ 3-6 กรัมต่อวัน จะลด คอเลสเตอรอลแบบชนิดความแน่นต่ำลงไป และเพิ่มแบบความแน่นสูงให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการดีต่อการป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจ แต่คนไข้มักจะบ่นว่าเกิดตัวร้อน ใบหน้าร้อนวาบ ๆ แต่อาการนี้สามารถป้องกันโดยกินยาแอสไพรินไปด้วย นอกนี้ก็เกิดระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

ผมก็ยังคิดไม่ออกว่าทำไม ทางการแพทย์ถึงไม่ส่งเสริมให้กินยาตัวนี้ เพื่อป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด ซึ่งราคาถูกมาก แต่กลับไปส่งเสริมให้กินยาพวก Statin ทั้งหลาย ซึ่งราคาแพงมาก ขนาด สองถึงสามเหรียญต่อเม็ด 

อีกตัวหนึ่งที่เป็นวิตามิน B6 วิตามิน B6 ตัวนี้มักไม่ค่อยจะขาดในตัวคน นอกเสียจากว่าขาดอาหารมาก และนาน แต่โรคนี้มักจะขาดโดยจากกินยาบางอย่างเช่นพวก รักษาโรคปอดทีบี คือยา INH ยากำจัดมะเร็ง ยาคุมกำเนิด และพวกขี้เมาสุรา อาการก็มีแผลในปาก เจ็บลิ้น โรคผิวหนัง อารมณ์หงุดหงิด และอาการชาตามแขนขาและกล้ามเนื้ออ่อนกำลัง ถ้าเป็นมากอาจเกิดลมชักได้ ขาดเลือดอ่อนเพลีย การรักษาก็ต้องกินยาB6 หรือฉีดยาทดแทน อาการก็จะดีขึ้น

กลับมาพูดเรื่องนิโคตินใหม่ จำนวนของนิโคตินที่มีอยู่ในบุหรี่แต่ละมวนสามารถทำอันตรายต่อชีวิตได้ แต่เพราะส่วนใหญ่จะถูกเผาเป็นควันไป ส่วนที่เหลือถึงเข้าสู่ร่างกายเราโดยทางเยื่อถุงลมของปอด แล้ววนเวียนไปในระบบเลือด

นิโคตินนี่เป็นยาฆ่าแมลงที่ได้ผล อาจจะเป็นตัวที่ชาวบ้านเราเรียกว่า โล่วติ๊น กินแล้วตายได้ แต่เดี๋ยวนี้เขามีสารเคมีที่ทำขึ้นมาใช้ทดแทน ความนิยมของนิโคตินเลยน้อยลง

ชาวไร่สวนผักที่ใช้น้ำยานิโคตินฆ่าแมลงพืชนี้มักไม่ใส่ถุงมือ ยาตัวนี้ก็ผ่านเข้าร่างกายทางผิวหนัง ถ้าโดนเข้ามาก ๆ จะเป็นพิษ มีอาการตื่นเต้น พูดเลอะเทอะ กล้ามเนื้อชักกระตุก ปวดท้อง อ่อนเพลียมาก เกิดอาการชัก แล้วก็สลบไป การหายใจเร็ว ชีพจรเต้นไวมาก แล้วอาจตายจากหายใจติดขัด การรักษาก็ต้องล้างเอาน้ำยานี่ออกให้หมด ถ้าเกิดจากการกินก็ต้องรีบล้างท้อง ให้อ๊อกซีเจ้นช่วยการหายใจ ถ้ามีหมออยู่เขาก็อาจฉีดยาพวก แวเลี่ยมเข้าเส้นกันหรือแก้อาการลมชัก

เนื่องด้วยการวิวัฒนาการของการสูบบุหรี่ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ผมยังจำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ผมต้องขึ้นรถรางไปแถวสี่กั๊กพระยาศรี เพื่อไปซื้อยาสูบให้ก๋ง เป็นยาสูบที่ห่อด้วยใบตอง แต่ละมวนเป็นรูปสี่เหลี่ยม แทนที่จะเป็นรูปกลม เพราะเขาเอาเตารีดทับให้มีกลิ่นไหม้หน่อย ๆ ทั้งสี่ด้าน เห็นก๋งผมตอนท่านไม่สูบฝิ่นก็นั่งสูบบุหรี่ยี่ห้อนี้แหละ แต่บางครั้งบางคราวท่านก็ให้ซื้อชนิดห่อด้วยใบบัว แบบนี้จะเป็นมวนกลม ผมก็ไม่รู้ว่าบุหรี่พวกนี้เรียกว่า Cigarette หรือเปล่า แล้วอยู่ ๆ ผมก็มาเห็นบุหรี่ซิกาเรต ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ยังติดตาอยู่ก็คงยี่ห้อหัวทหารเรือ นับว่าแพงมาก เพราะเป็นของมะริกัน มีคนเขาขโมยเอามาขายเป็นกล่อง ๆ แต่ถ้าจะซื้อเป็นมวนก็มีขายด้วย จากนั้นก็มาตราฆ้อง ตราพระจันทร์ แล้วก็มาเกล็ดทอง ตอนผมหัดสูบบุหรี่ก็มียี่ห้อสายฝน นับว่าแพงที่สุด ของโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย

Cigarette ซิกาเรตต์นี่เป็นผลิตผลที่ค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของโลกก็ว่าได้ เพราะมันแพร่หลายไปทั่วโลก ใช้ได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงวัยแก่ใกล้ตายเลยทีเดียว การทำนี่ก็ยุ่งหน่อยเหมือนกัน แต่ไม่ยาก เชื่อผมซี่ จะเล่าให้ฟัง

เมื่อคัดเลือกใบยาที่ต้องการก็หั่นเป็นเส้นเล็ก ๆ รวมทั้งก้านที่เล็กด้วย แล้วก็ต้องผสมสารหลาย ๆ อย่าง เช่นสารกันความชื้น สารกันเชื้อรา สารทำให้เป็นเชื้อเพลิงที่ดี แต่ไม่ติดไฟเร็วจนเกินไป ผสมสารที่ทำให้หอมตอนติดไฟ ทำให้มีรสชาติหวานนิด ๆ การวัดดูว่ามีสารนิโคตินมากพอในแต่ละมวนหรือเปล่า ถ้าไม่พอก็พ่นสารนี้ลงบนใบยาให้มากขึ้น  สารที่ผมพูดนี่ผมพูดอย่างง่าย ๆ ถ้าจะดูรายละเอียดมันมีกว่า สีสิบชนิด ทั้งนี้อาจมีสารยาฆ่าหนู Arsenic สารปรอทปนด้วย

กระดาษที่มวนนั้นก็ทำพิเศษ ไม่ใช่กระดาษหนังสือพิมพ์ธรรมดา ถ้าแกะเอากระดาษออกส่องดูให้ดี จะเห็นเป็นแถบเส้นหนาสลับกับเส้นบาง เส้นหนาทำให้ติดไฟดี เส้นบางก็ชะลอลง เพราะเขาอาบน้ำยาไว้ มันทำให้บุหรี่ที่จุดไฟแล้ว ไหม้ติดต่อกันไปเรื่อยไม่ดับ เวลาวางบุหรี่ในถาดมันก็ยังคงติดไฟอยู่ จนไหม้หมดทั้งมวน (ไม่เหมือนซิก้า ถ้าไม่สูบติดต่อกัน มันก็จะดับเอง)

   

       กลับไป ตอนที่ 1                                                                               อ่านต่อ ตอนที่ 3

 

                                                     กลับไป มุมนักอ่าน พบ นักเขียน

หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2008 Chulalongkorn University Alumni Association of California