สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในเครือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                             ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

         

                               Marathon

                                                                     ตอนที่ 3

                                                                                                          น.พ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

 

Marathon ของนักวิ่ง       

คราวที่แล้ว ผมเล่าและเอารูปของนักวิ่งที่กำลังวิ่งอยู่มาให้ดู เพื่อผมจะได้ฝอยให้ละเอียดจ๋ำหนับ (มีคนเขาแนะผมว่าคำว่าฝอยแปลว่าการกล่าวที่ไม่เป็นสาระ แต่ผมแปลว่ากล่าวอย่างละเอียดถึงกึ๋นเลย ขนาดให้เห็นเส้นด้ายเล็กหรือขน เลยครับ) การดูคนเดินหรือวิ่งนั้นเขาเรียกเป็นศิลปะ หรือเป็นวิชาเลยครับ เหมือนดูโชคชะตาชีวิต เรียกว่า Gait Analysis มันมีประโยชน์มากสำหรับ ดูว่าคนป่วยหรือคนดีทำการเดินอย่างไร ในคนปรกตินั้นเวลาเดิน ถ้าเราดูหรือถ่ายหนังจะเห็นว่าหัวคนนี่จะมีการขึ้น ๆ ลง ราว ๆ สองนิ้ว แล้วแถมแกว่งซ้ายแกว่งขวาไม่เกินสองนิ้วเหมือนกัน เราถึงเรียกว่าเดินสมูธ Smooth เพราะมันเสียพลังงานน้อยที่สุด แต่ถ้าเกินกว่านั้นเราจะเห็นว่าร่างกายเขาแกว่ง หรือหัวจะผลุดขึ้นผลุดลงมาก ไม่สวยเลย ถ้าเป็นการประกวดนางงามจะต้องจับไปหัดเดินใหม่ เวลาเดินฝ่าเท้าสองข้างก็ต้องทำมุมขนาด 30-45 ดีกรี มากกว่านั้นก็เหมือนเป็ดเดิน

เวลายืนหรือเดิน เข่าก็ต้องตรงจากขาอ่อนลงมาขาล่าง ถ้าหนีบเข้าหากันมาก ฝ่าเท้าจะแยกออกไปมาก เข่าอย่างนี้เรียกว่า Knock knee แต่ถ้าหัวเข่าแยกออกมากไปก็ดูโค้งโก่งเรียกว่า Bow knee ถ้าเข้าทั้งสองอย่างนี้ ไม่เหมาะสำหรับวิ่ง แต่จะวิ่งเยาะ ๆ ก็คงไม่เป็นไร

การวิเคราะห์การเดินนี้ มันสำคัญมากในคนไข้ที่มีโรคทางขาตั้งแต่เอวลงไปจนถึงนิ้วเท้าทีเดียว เช่นคนอัมพาต stroke  พวกเส้นประสาทขาเสียเช่นพวกเป็นโรคเป็นเบาหวานมากจนเส้นประสาทเสียได้ กล้ามเนื้อบางกลุ่มพิการจากโรคกล้ามเนื้อ Myopathy กระดูกขาไม่เท่ากัน หรือผิดรูป Deformed ข้อพิการ Arthritis นอกนี้ก็พวกที่ต้องใส่ขาเทียม Prosthesis การใช้เครื่องช่วยค้ำจุนขา Leg Braces ทั้งหลาย

ชักเขียนชักเป็นวิชาการมากเกินไปเสียแล้ว ผมจะเขียนแต่การเจ็บปวดจากกล้ามเนื้อต่าง ๆ ในช่วงของการเดินหรือวิ่ง

การเจ็บปวดที่ส้นและเท้า ถ้าจากขาส่วนหน้าตอนวิ่งต้องนึกถึงรองเท้าแข็งหรือแคบไป มันไปบีบฝ่าเท้าหน้าเข้า และจะเจ็บทุกครั้งที่เท้าหน้าเริ่มถีบออก Toes pushing ทำให้เล็บเท้าช้ำดำไปด้วย ให้ซื้อรองเท้าใหม่ ถ้าเป็นนักวิ่งอาชีพต้องหาช่างทำรองเท้าพิเศษละ Custom made

แต่อย่าลืม นิ้วหัวแม่เท้าเจ็บตอนกลางคืนหลังจากดื่มสุราหรืออาหารพวกนมเนยมากอาจจะเกิดจากโรคเก๊าต์ Gout กำเริด อยากนี้ก็ต้องหาหมอกันละ อย่ามัวเสียเวลาไปนวดบีบเลย ไม่หายหรอก

ถ้าเกิดเจ็บที่หุ้มส้นเท้า อาจจากการถูของหุ้มข้อเท้าโดนที่เส้นเอ็นร้อยหวาย Achilles tendon นอกนี้ด้านใต้และในของเอ็นนี้มีถุงน้ำด้วย อาจเกิด bursitis เรียกว่า Pump bump ทำให้ถุงน้ำบวม มันบวมแถวเอ็นร้อยหวายไปเกาะที่กระดูกส้นเท้า ยิ่งเดินยิ่งเจ็บมากขึ้น หาหมอซิครับ เพราะมันบวม อาจต้องเปลี่ยนรองเท้าก็ได้ (รูปที่เห็นเจ็บหลังส้นเท้า)

เจ็บส้นเท้า เพราะที่หุ้มข้อเท้าหลวม ทำให้แผ่นไขมันที่รองส้นเท้าไม่รองรับน้ำหนักตอนวิ่ง จะทำให้พังผืดของฝ่าเท้าอักเสบ หรือเยื่อใต้ส้นเท้าอักเสบ เรียกว่า Plantar fasciitis แล้วเลยกลายเป็น Heel spur syndrome คือมีเดือยเกิดขึ้นที่ส้นเท้า เจ็บมากเหมือนกัน ตอนส้นเท้ากระแทกพื้น Heel strike เมื่อส้นเท้ากระทบพื้น พวกนี้ไม่ต้องไปวิ่ง ขนาดลุกขึ้นเดินก็เจ็บแล้ว ยิ่งตอนเช้า ก้าวแรกที่เหยียบพื้นก็เจ็บแล้ว แก้โดยซื้อรองเท้าที่ส้นนิ่มและหนาหน่อย แช่น้ำอุ่น กินยาแก้ปวดพวก NSAIDS ถ้าดื้อทุกอย่าง ต้องฉีดยาพวก สเตียรอยด์อ่อน ๆ ก็อาจช่วยได้ ไม่ต้องไปฟังใครว่าสเตียรอยด์มันจะเกิดอันตราย เพราะที่เขาฉีดให้มันน้อยนิดเดียว แต่ถ้าต้องไปแข่งขันเอาถ้วยละก็ และต้องเจาะเลือดตรวจละก็ อย่าได้ไปฉีดเด็ดขาด เดี๋ยวจะอดได้ถ้วย แต่เชื่อขนมได้เลยว่า จะแพ้เขาแหง ๆ คราวนี้ เพราะยิ่งวิ่งยิ่งปวด แล้วจะได้ถ้วยอะไรกับเขา (รูปส้นเท้าที่มีเดือยยื่นออกมา)

เจ็บหน้าแข้ง compartment syndrome การเจ็บปวดนี่อาจจะเกิดมานาน แล้วค่อย ๆ เพิ่มความเจ็บมากขึ้น "หมอครับ ช่วยดูหน่อย หนูทนไม่ไหวแล้ว" (อย่าคิดมาก นักวิ่งผู้หญิงนะ เขาเจ็บขาเท่านั้น) คนไข้จะชี้บอกที่เจ็บอยู่แถวรอบ ๆ หน้าแข้ง กดที่ไหนก็เจ็บที่นั่น มันเกิดจากการชอกช้ำของกล้ามเนื้อที่ยกหน้าเท้าขึ้น Dorsum of foot คือตอนหลังจากถีบเท้าออก แล้วต้องยกขาแล้วเท้าลอยจากพื้น จนถึงก่อนเท้าแตะพื้น คือฝ่าเท้าจะต้องให้ลอยจากพื้นให้ได้ ไม่งั้นเท้าจะสะดุดพื้นหกล้มทันที (ดูรูปการวิ่งในฉบับที่แล้ว อ้าว! ทิ้งขยะไปแล้ว) อยากรู้ว่ากล้ามเนื้อชื่ออะไร จะบอกให้ก็ได้ คือ Anterior tibialis muscles, Extensor digitorum longus  และ Extensor halucis longus พวกนี้มันอยู่แถวหน้าแข้ง ระหว่างกระดูกสองชิ้นของหน้าแข้ง บอกแล้วไง อย่าไปรู้ชื่อพวกมันเลย ปวดหัวเปล่า ๆ

มีอาการเจ็บที่อยู่ตรงแถวนี้เหมือนกัน แต่เกิดจากเยื่อระหย่างกระดูกสองท่องใหญ่ ๆ และเจ็บแถวตรงหน้าแข้ง มันเจ็บลึก ๆ เรียกว่า Shin splint.

ลืมบอกไป แข้งมีกระดูกสองท่อนจากหัวเข่าถึงข้อเท้า อันหนึ่งใหญ่มาก มีไว้ฟาดซี่โครงศัตรูตอนเตะ เรียกว่า Tibia อยู่ด้านใน อีกอันหนึ่งเล็กหน่อย อยู่ด้านนอก จากใต้หัวเข่าถึงข้อเท้า เรียกว่า Fibula ตอนข้อเท้าหัก ก็ที่ตอนปลายของกระดูกท่อนเล็ก Fibula นี่แหละ เรียกว่า Fractured lateral maleolus of fibula กล้ามเนื้อที่เท้าทั้งหลายจะต้องมาเกาะติดที่กระดูกทั้งสองนี่ ดังนั้นการเดินหรือวิ่งตอนถีบเท้าออกหรือตอนส้นเท้าแตะพื้น จะต้องใช้กล้ามเนื้อพวกที่เกาะกระดูกทั้งสองนี้ ทำหน้านี้ทั้งนั้น

อีกสาเหตุของการปวดที่หน้าแข้ง อาจจะเกิดจากกระดูกทำการวิ่งมามากและนาน จนมีการร้าวในกระดูก เพราะกระดูกจะพยายามปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเอง Remodeling แล้วเยื่อกระดูก Periosteum พยายามซ่อมแซม ก็เลยไปปวดที่เยื่อหุ้มกระดูก แบบนี้เห็นได้ในเอ๊กซเรย์ เป็นเงาขาว ๆ (โดยมากหมอจะชี้โบ๊ชี้เบ๊ตรงที่มีเงาขาว ๆ นั่นแหละ ถูกบ้างผิดบ้าง คนไข้ก็ได้แต่พยักหน้า รับรู้ไป) เรียกว่า Stress fractures การรักษาก็ง่ายมาก งดวิ่งสักเดือน อาการก็จะดีขึ้น แล้วค่อยมาฝึกกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรงใหม่ ก่อนจะเริ่มวิ่งอีก ส่วนยาแก้ปวดและอักเสบจากการใช้กล้ามเนื้อก็กินยาพวก NSAIDS เช่น Motrin ฯลฯ ตามที่เคยบอกมาก่อนหน้าแล้ว

หัวเข่า Runner 's knee

เรื่องหัวเข่าเจ็บนี่ถ้าเกิดในหนุ่มสาวที่อายุยังน้อยอยู่ และปวดบ่อย ๆ อาจต้องให้หมอตรวจดูที่กระดูกตะโพก เช่นกระดูกข้อที่ตะโพกไม่เจริญ Femeral head หัวแบน จะไม่เกาะแน่นติดกระดูกเชิงกราน เป็นโรค Perthe's disease วิ่งที่ไรเจ็บทุกที นอกนี้ในพวกหนุ่มสาวยังมีอีกโรคหนึ่ง เรียกว่า Osgood-Schlater's disease เกิดจากการอักเสบที่กระดูกหน้าแข้งติดกับกระดูกสะบ้า ตัวนี้ก็ต้องพัก หรือเล่นกีฬาอื่นที่ไม่ต้องวิ่งมาก หน้าที่หมอก็ให้ใส่สนับหัวเข่าและใส่ยางที่รอบกระดูกสะบ้า Patella สำหรับกีฬาอื่นที่มีการวิ่งน้อยหน่อย หรือเขียนใบพักวิ่ง หรือให้ไปว่ายน้ำแทน

Patella tendinitis เอ็นที่ยึดกระดูกสะบ้าชอกช้ำเพราะวิ่งมาก การปวดอยู่ที่เอ็นใต้ลูกสะบ้า กดทีไรเจ็บทุกที หมอก็ชอกกดดู รู้ว่าเจ็บก็ยังกดอยู่เรื่อย เพื่อให้แน่ใจ การรักษาก็ประคบด้วยผ้าชุกน้ำอุ่น ตอนแรกก็ต้องน้ำแข็งซี่ครับ แล้วก็พักกินยา แบบนี้ก็อาจจะจะฉีดยาสเตียรอยด์นิดหน่อยตรงเอ็นมาเกาะที่กระดูกหน้าแข้ง

การช่วยตัวเอง หลังชอกช้ำหรือบวม ใน 48 ชม.แรก ใช้น้ำแข็งใส่ถุง Zip lock ประคบที่ช้ำนั้น พอหลังจากนั้นก็ใช้น้ำอุ่น สาเหตุที่ต้องใช้น้ำแข็งก่อน เพราะเราต้องการให้เส้นเลือดหรือเส้นน้ำเหลืองหดตัว จะได้ไม่บวมมาก พอหลัง48 ชม.แล้ว เมื่อเลือดหยุดไหลในเยื่อของอวัยยะนั้น ก็ให้น้ำอุ่นเพื่อละลายหรือเร่งให้เลือดเสียพวกนี้ถูกนำไปทิ้งที่อื่น จะได้หายช้ำเร็ว นอกจากน้ำแข็งแล้ว การใช้ผ้า Elastic รัดยังช่วยกันการบวมอีกด้วย

 

            กลับไปตอนที่ 2                                                                       อ่านต่อ ตอนที่ 4

                                                                                                

   หมายเหตุ : ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบทความนี้ เป็นของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะนำบทความนี้ ไปเผยแพร่ สามารถติดต่อได้ที่ info@cualumni.us             

                                                       

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2006 Chulalongkorn University Alumni Association of California