ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

 

                 โรคกรน (Sleep Apnea)   

                                                                                     ตอนที่ 2

                                                                                                                      นพ. สุวัฒน์ สุวรรณวานิช

 

นาย Pickwick

           นาย Pickwick นี่เป็นตัวละครในนิยายมีชื่อของนักเขียนเอกของอังกฤษ Charles Dickins ชื่อหนังสือว่า Pickwick Papers ตัวนายนี่อ้วนมาก หน้าแดง แบบคล้ำ ๆ ถ้าตรวจที่ข้อเท้าจะบวม ไม่ค่อยจะยอมลุกเดินหรือทำงาน นอนหน่อยก็เหนื่อยหอบ นั่งที่ไหน ก้นจะมีรากงอกได้อย่างนั้นแล ง่วงนอนตลอดเวลา นั่งที่ไหนก็สัปหงกที่นั่น  แกนี่สามารถหลับได้ระหว่างสนทนากันอยู่ แถมมีเสียงกรนออกมาได้ด้วย ระหว่างสัปหงกก็มีการสดุ้งตื่นแล้วก็หายใจลึก ๆ แล้วก็นอนหลับต่อ หลับ ๆ ตื่น ๆ อย่างนี้ระหว่างนั่งสัปหงก พวกนี้แหละที่ ฝรั่งเรียกว่า Sleep on the wheelsหลับในตอนขับรถ อาการอย่างนี้เขาเลยเรียกว่า Pickwickian syndrome

          กลับมาพูดถึงนายตุ้ยนุ้ยที่เมืองจีน แกไม่ได้กลับไปอยู่ที่บ้านนอกตามที่คาดไว้ เพราะแกเป็นชาวเซี่ยงไฮ้มาหลายตระกูลแล้ว น่าสงสารที่ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร โอ้ลืมไป ควรจะตั้งชื่อให้เสียหน่อย แกแซ่เห่า ชื่อมักเซียบ ก็ต้องเรียกว่า นายมักเซียบ เห่า นายเห่านี่นิสัยก็ไม่เลว ถูกเมียฟ้องหย่าแล้วก็ยังไม่ยอมมีเมียใหม่ สุดท้ายก็ไปยืนอยู่หน้าประตูบ้านเก่าของแกพร้อมกับกระเป๋าเสื้อผ้าเก่า ๆ สองใบ  รอเมียกลับจากที่ทำงาน พอดีลูกกลับจากโรงเรียนก่อน เห็นพ่อยืนโศกเศร้า ก็เข้าไปกอดพ่อทันที ร้องห่มร้องไห้จะลากพ่อเข้าบ้านให้ได้ แต่นายเห่าแกก็กลัวเมียจะเอาไม้กวาดเพ่นกระบาล ไม่กล้าเข้าบ้าน พอฝ่ายเมียเห็นพ่อลูกยืนกอดคอร้องไห้กันก็เกิดสงสาร ขึ้นมา ที่แท้นายเห่าแกก็คนดี ทำมาหากินดี แต่ชอบแอบหลับตอนนายเผลอ และกรนดังตอนนอนด้วยกันจนทนไม่ไหว คือเขาเรียกว่า เป็นโรค Pickwickian syndrome เอาละว้า มันก็เคยเป็นผัวเมียกันมา และไหว้ ฟ้าดินและเจ้าที่เจ้าทางตอนแต่งงานกันแล้วนี่ คงจะต้องอยู่กันจนอำลาเข้าโลงไปเท่านั้น เลยให้ลูกช่วยหิ้วกระเป๋าพ่อเข้าบ้าน เพราะใจอ่อนด้วยความสงสาร (ที่เล่ามาไม่มีในข่าว ผมแต่งเองครับ)

         ก็ให้นายเห่าย้ายเข้าไปในห้องลูกซึ่งเล็กหน่อย เมืองจีนเขามีลูกคนเดียวก็มีห้องลูกห้องเดียวเท่านั้น แล้วลูกก็ย้ายไปอยู่ห้องแม่ กันท่าไม่ให้พ่อมันเข้าไปนอนกรนเล่น แต่ต้องจัดการเรื่องห้องนี่คือทุกคืนให้ปิดหน้าต่างมิดชิด ช่องลมก็เอากระดานมาปิดกั้น กันเสียงลอดออกมา อย่างน้อยก็ยังพอทนเสียงนิดหน่อยที่รอดออกมาได้ แม้ห้องจะเล็ก ร้อนสักหน่อย ก็ต้องอาศัยพัดลม พอทนได้ นายเห่าก็ต้องทนทุกอย่าง

         พอดีที่บ้าน เมียเก็บเงินได้สักก้อน เมียเลยพาผัวไปหาหมอรักษาโรคกรน หมอบอกราคามาเลย พันหยวนแรกสำหรับตรวจสอบว่าแกกรนจากอะไรกันแน่ แล้วจะได้วางแผนรักษาได้ ระหว่างนั้นให้ลดน้ำหนักด้วย จากหนึ่งร้อยสิบกิโลให้ลดให้มากที่สุด จะล่อข้าวต้มกับเกี่ยมไฉ่ก็ไม่ได้ เพราะแกเป็นความดันสูง ต้องลดเกลือลงด้วย ข้าวต้มถ้าต้มข้นไปก็กลายเป็นแป้ง น้ำหนักตัวจะไม่ลด ต้องน้ำใส ๆ หน่อย แล้วกินกับผักต้ม ฟักต้มจืด หัวไช้เท้า ผักกะหล่ำปี ต้มทั้งนั้น ห้ามใส่หมูสามชั้น ทรมานหน่อยนะนายเห่า ถ้าจะกินไข่ก็ต้องเอาไข่แดงออก กินแต่ไข่ขาว คือว่าหมอคนนี้แกรักษาแบบครบวงจร คือลดความดันสูง ลดน้ำหนัก แล้วก็จะรักษาโรคกรนด้วย 

          เมื่อถามอาการกรน และชอบหลับบ่อยเหมือนนายพิควิค หมอก็ตรวจสอบทั่วตัวเลย จากหูคอลงมาจนถึงไส้เลื่อน ริดสีดวงจมูกและก้น ขอดูหมด เจาะเลือดดูหลายอย่าง แน่นอนเรื่องเบาหวาน เรื่องต่อมไทรอยด์ โรคไตหรือตับดีหรือเปล่า แม้กระทั่งอ๊อกซีเจ้นในบรรยากาศธรรมดา เอาไว้เปรียบเทียบทีหลัง เอ๊กเรย์ปอด คลื่นหัวใจ ว่ายังเต้นดีอยู่หรือ โอย! สารพัดอย่างที่ต้องเสียเงิน เสร็จแล้วก็กำหนดคืนวันเพ็ญให้เอาชุดนอนมานอนที่ร้านหมอ Sleep lab ห้ามเอาเมียมา นายเห่าคงคิดว่าหวานกูละ ไปนอนที่ร้านหมอที่มีพยาบาลสวย ๆ ดูแลตอนนอน โดยหมอแกพูดภาษาจีนแถมอังกฤษว่าให้มาทำแกรมอะไรนี่แหละที่ร้านหรือคลีนิดหมอตอนคืนวันเพ็ญ คืนนั้นนายเห่าแกแต่งเสียเท่ ล่อกางเกงปั๋งลิ้ม เสื้อกุยเอง เพื่อไปนอนให้เขาทำการทดลองเหมือนหนูตะเภาโดยพยาบาลสวย หารู้ไม่ว่านางนั้นมีฟันเผยอ ตัวเตี้ย ขาเป๋ด้วย

         สถานที่ตรวจสอบนั้นเขาเรียกว่า Sleep lab ห้องตรวจสอบการหลับ ดูในรูป และเครื่องที่ใช้ตรวจสอบเขาเรียกว่า Polysomnography คงต้องแปล่ว่าวัดร่างกายระหว่างหลับด้วยเครื่องหลาย ๆ อย่าง ถ้าอยากจะรู้ว่าเขาตรวจอะไรกันหนักหนาถึงต้องไปนอนที่ห้องพิเศษนี่ ก็มี EEG, ECG, EOG, EMG วัด O2 saturation วัดการเคลื่อนไหวของซี่โครง วัดอากาศผ่านทางจมูกและปาก

        เงียบเลยนะครับ ไม่มีใครยกมือถาม เหมือนข้าหลวง CEO (ผมก็ไม่รู้ว่าอ่านยังไง คงไม่อ่านว่า เสียวนะครับ) ต่างจังหวัดของเมืองไทย ถูกจับเข้าเข่งให้มาฟังฝรั่งเล็คเชอร์ พอจบต่างก็เงียบ ก็ไม่มีใครยกมือถามสักคน  ฝรั่งเลยล้อเล่นว่า คิดว่าเข้าใจกันหมดุกคน เก่งจังเลย โถ! ท่านนายกทักษิณ ไม่น่าจะมาล้อเล่นกันหนัก ๆ ให้ฝรั่งพูดฝรั่งมาพูดเยาะเย้ยกันอย่างนี้เลย เจ็บใจจริงๆ อย่างนี้เรียกว่าขายหน้ากันทั้งชาติเลย มันก็รู้อยู่ว่าคนไทยโดยเฉพาะข้าหลวงอยู่บ้านนอกนาน ๆ จะไปคุยกับฝรั่งที่ไหนกัน แม้พวกเราอยู่เมืองนอกแม้จะติดต่อกับฝรั่งทุกวัน ต้องกินเวลาอย่างน้อยสามปีก็พอจะฟังออกสัก 80 % ส่วนที่อยู่กับคนไทยตลอด ฟังออกสัก 30% ก็บุญแล้ว(ถ้าคนไหนคิดว่าไม่จริง โทรมาต่อว่าผมได้เลย) มันเป็นความหวังดีของนายก แต่ลืมไปว่าทุกคนไม่ได้ฉลาดหรือหัวใสเท่าท่านนี่ครับ พูดไปก็หาว่าคนวิจารช่างไม่พัฒนาตัวเองเสียเลย

        โอเค! เราพูดภาษาเดียวกัน ไม่พูดถากถางกันนะครับ EEG มาจากคำว่า Electro encephalogram คือการวัดคลื่นสมอง, EMG Electromyogram คือการวัดกล้ามเนื้อของแขนขาว่าเคลื่อนไหวมากน้อยตอนนอน EOG Electro-oculogram วัดการเคลื่อนของลูกตาหลังหนังตา ECG Electrocardiogram วัดการเต้นของหัวใจ ถ้ายุ่งนักก็อย่าไปจำมัน ผมเขียนให้มันครบตำราเท่านั้นเองแหละ เพราะเขาส่งบิลล์มาเก็บสตังค์จะได้รู้ว่าเขาทำกะเรายังกันกันตอนที่เราหลับอยู่

        นอกนี้เขายังเอาเครื่องอะไรมาครอบไว้ที่ปาก วัดการเคลื่อนไหวของอากาศ มีที่หนีบหู เขาเรียกว่า อ๊อกซีเจ้น มีเตอร์ Oximetry อ้ายตัวนี้เขาวัดระดับของอ๊อกซีเจ้นว่าตอนกรนหนัก และหายใจขาด ๆ นั้น ระดับอ๊อกซีเจ้นจะตกลงสักเพียงใด เพราะถ้าตกลงมาก หัวใจจะต้องปั๊มแรงขึ้นอีก นาน ๆ เข้าจะเกิดความดันสูงขึ้น ปอดก็ถูกเลือดดันสูงด้วย ไม่ช้าไม่เร็วหัวใจก็วายได้ นอกนี้มีเครื่องติดที่นิ้วมือคอยวัดการเต้นของชีพจร  แปลว่านายเห่านอนเหมือนปลาหมึกยักษ์ มีสายต่อไปทั้งตัวเลย กระดาษที่จดบันทึกก็เดินทั้งคืน มีคนนั่งเฝ้าดูทางโทรทัศน์ทั้งคืน เผื่อจะได้ช่วยเหลือ ตอนคนไข้ลุกขึ้นมาเยี่ยวหรือกินน้ำ หรือบางคนลุกขึ้นมาเดินเพ้อคนเดียวเล่น ๆ ก็มี

                                                          

                 อ่าน ตอนที่ 1                                                          อ่านต่อ ตอนที่ 3

 

                     ABOUT US  |  EVENTS  |  NEWS  |  ALUMNI BOARD  |  WEBBOARD  |  CONTACT US

                          Copyright 2005 Chulalongkorn University Alumni Association of California